ธรรมทานนั่นแหละ ประเสริฐกว่าทานทั้งหลาย


    ในคราวก่อนเป็นเรื่องการอุทิศส่วนกุศลในการฟังธรรม และแสดงธรรม เนื่องมาจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้อ่านข้อความเรื่องท้าวสักกเทวราช และในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของ ธรรมทานนั่นแหละ ประเสริฐกว่าทานทั้งหลาย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๒ ที่ว่า

    บรรดารสทุกชนิด รสพระธรรมเป็นยอด

    ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า

    อนึ่ง รสมีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนประณีตแม้รสอาหารทิพย์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้แหละ ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรสัง ธัมมรโส ชินาติ

    ทุกคนได้รสอาหารอยู่ทุกวัน แม้เป็นรสที่ประณีตถึงขั้นอาหารทิพย์ของเทวดา ก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ตกไปในสังสารวัฏฏ์

    การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันแต่ละครั้งที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นบริโภคด้วยความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมอกุศลซึ่งจะทำให้ ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้

    วันนี้ทุกท่านต้องมีทุกข์แน่ๆ เพียงแต่จะสังเกตหรือไม่ได้สังเกต อาจจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่ทันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่แท้ที่จริงสภาพธรรมทุกขณะเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งนั่นเป็นทุกข์จริงๆ แต่ขณะใดได้ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์ และถ้าสังเกตจะรู้ว่า มีมาก แม้แต่ว่าความขุ่นใจทางตาที่เห็น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหูที่ได้ยินแล้วเกิดขุ่นใจ รำคาญใจ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจคิดเรื่องที่ไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรสที่ประณีตทั้งหลาย ก็ยังไม่สามารถช่วยทำให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากพระธรรมรส คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว และโลกุตตรธรรม ๙ นี้แหละประเสริฐกว่ารส ทั้งปวง เพราะว่าไม่ทำให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ หรือเสวยทุกข์

    เวลาที่ท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรม และมีความเข้าใจ มีศรัทธาปสาทะ มีความรู้สึกซาบซึ้ง ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง

    ต่อไปเป็นอรรถแห่งปัญหาธรรมข้อที่ ๓ ที่ว่า

    บรรดาความยินดีทุกชนิด ยินดีในธรรมประเสริฐ

    ซึ่งข้อความมีว่า

    แม้ความยินดีในบุตร ความยินดีในธิดา ความยินดีในทรัพย์ ความยินดี ในสตรี และความยินดีมีประเภทมิใช่อย่างเดียว อันต่างด้วยความยินดีในการฟ้อน การขับ การประโคม เป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนความอิ่มใจซึ่งเกิดขึ้นภายในของผู้แสดงก็ดี ผู้ฟังก็ดี ผู้กล่าวสอนก็ดีซึ่งธรรม ย่อมให้เกิดความเบิกบานใจ ให้น้ำตาไหล ให้เกิดขนชูชัน ความอิ่มใจนั้น ย่อมทำที่สุดแห่งสังสารวัฏฏ์ มีพระอรหัตเป็นปริโยสาน ความยินดี ในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรติง ธัมมรติ ชินาติ

    วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดีในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการเล่น ในการฟ้อน การขับประโคมดนตรีต่างๆ แต่ว่าความยินดีนั้นๆ ทั้งหมด ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง

    ต่อไปเป็นอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๔ ที่ว่า

    ความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุ พระอรหัต

    มีข้อความอธิบายว่า

    ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหา คือ พระอรหัต ซึ่งเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งตัณหา พระอรหัตนั้นประเสริฐกว่าทุกอย่างแท้ เพราะครอบงำวัฏฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตัณหักขโย สัพพทุกขัง ชินาติ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความแห่งพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้อยู่นั่นแล บุคคลเป็นจำนวนมากได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เป็นปกติ ในขณะที่กำลังฟัง ฟังด้วย พิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏด้วย สติเกิดแทรกคั่น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    สำหรับผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานมามากแล้ว มีเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาย่อมสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    แม้ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วทูลว่า

    พระเจ้าข้า เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวก ข้าพระองค์ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้ จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกกับภิกษุสงฆ์ แล้วรับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน แล้วตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1498

    เมื่อท้าวสักกะกราบทูลถามว่า ทานใดเป็นทานอันเลิศ และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทานเป็นทานอันเลิศ จึงเป็นเหตุให้พระอินทร์ทูลถามว่า เมื่อธรรมทานเป็นเลิศแล้ว เหตุใดเมื่อได้ฟังธรรมก็ดี หรือได้แสดงธรรมก็ดี ไม่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ซึ่งการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้นสามารถอุทิศได้ หรือผู้อื่นก็สามารถอนุโมทนาได้

    ท่านผู้ฟังอาจจะเคยแผ่เมตตาหลังจากฟังธรรม แต่เรื่องของการแผ่เมตตา ยังแผ่ไม่ได้ จนกว่าจะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำแผ่เมตตา ซึ่งการแผ่เป็นเรื่องที่ยาก คือ จะต้องระลึกถึงบุคคลที่ควรจะแผ่ก่อน ได้แก่ ผู้มีคุณเสมอด้วยมารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น และแผ่ไปถึงบุคคลอื่นในภายหลัง และ ต้องเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเห็นกันบ่อยๆ หรือมีเรื่องที่จะติดต่อกัน ถ้ายังมีความไม่เข้าใจ หรือมีจิตใจที่ขุ่นข้อง ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า มีเมตตาในบุคคลนั้นมากน้อยเพียงใด และก่อนที่จะแผ่ไปถึงสัตว์ทั้งปวงได้ จะต้องค่อยๆ แผ่ไปทีละบุคคล จนกระทั่งสามารถที่จะแผ่ไปในเขตบ้าน และแผ่กว้างออกไป

    แต่สำหรับกุศลอื่น เช่น การฟังธรรม เมื่อได้กระทำแล้วก็อุทิศส่วนกุศลใน การฟังธรรมให้บุคคลอื่นอนุโมทนาได้ทันที

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะอุทิศส่วนกุศลพร้อมๆ กันหลังจากฟังธรรมหรือ เมื่อได้บูชาคุณพระรัตนตรัยแล้ว หรือต่างคนต่างก็อุทิศส่วนกุศล ก็เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ สำหรับดิฉันเอง แม้ว่าท่านผู้ฟังจะไม่ได้อุทิศส่วนกุศลในการฟังธรรม แต่ก็อนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ฟังที่ได้มาฟังพระธรรม เพราะว่าการมาฟังพระธรรมไม่ใช่เป็นการง่าย ย่อมมีความไม่สะดวกหลายประการสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ ซึ่งบางท่านก็มาได้ บางท่านก็มาไม่ได้ แล้วแต่โอกาส

    แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การที่จะฟังธรรม ก็ยังไม่ใช่เป็นการง่าย เพราะฉะนั้น ดิฉันก็อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกท่านที่สามารถมาฟังพระธรรมได้ แม้จะไม่ได้กล่าวอนุโมทนากับทุกๆ ท่าน แต่เวลาที่เห็นทุกท่านมาฟังธรรมก็อนุโมทนา และเมื่อ ได้กล่าวพระธรรมแล้ว ก็ได้อุทิศส่วนกุศลเสมอ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1499


    หมายเลข 13114
    19 ก.ย. 2567