เรื่องในอดีตของพระโสดาบันท่านหนึ่ง*


    ถ้าเราจักบอกว่าลูกของเราถูกงูกัด ก็จักเป็นอันตรายแก่การฟัง พระธรรม เมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เด็กคนนี้ได้เป็นลูกของเรามาหลายครั้งแล้ว เราจักประพฤติธรรมเท่านั้น


    อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องหญิงชาวบ้านกาฬุมพระผู้หนึ่ง ซึ่งมีศรัทธาในการฟัง พระธรรมอย่างยากที่ใครจะมีได้

    หญิงนั้นอุ้มลูกไปยังจิตตลบรรพตด้วยคิดว่า จักฟังพระธรรม ให้ลูกนอนพิงต้นไม้ต้นหนึ่ง ตนเองยืนฟังพระธรรมในระหว่างกลางคืน งูตัวหนึ่งกัดลูกที่นอนอยู่ ใกล้ๆ ทั้งๆ ที่นางดูอยู่ เข้าสี่เขี้ยวแล้วหนีไป

    นางคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่าลูกของเราถูกงูกัด ก็จักเป็นอันตรายแก่การฟัง พระธรรม นางคิดว่า เมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เด็กคนนี้ได้เป็นลูกของเรามาหลายครั้งแล้ว เราจักประพฤติธรรมเท่านั้น แล้วยืนอยู่ตลอดทั้ง ๓ ยาม ประคองธรรมไว้ ได้บรรลุโสดาปัตติผลเมื่ออรุณขึ้นแล้ว ทำลายพิษงูในบุตรด้วยสัจจกิริยา แล้วอุ้มบุตรไป คนเห็นปานนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ใคร่การฟังธรรม

    นี่เป็นเรื่องในอดีตของพระโสดาบันท่านหนึ่ง

    . เป็นผู้ใคร่จะฟังพระธรรม ตรงกับอัธยาศัยของผม เพราะผมชอบฟัง ผมดูองค์ของศรัทธาที่จะทำให้ศรัทธาเกิด คล้ายๆ กับองค์ที่ทำให้กุศลจิตเกิด คบสัตบุรุษ ฟังธรรมของสัตบุรุษ ตั้งตนไว้ชอบ อยู่ในประเทศที่สมควร รู้สึกจะคล้ายๆ กัน ใช่ไหม

    สุ. ก็มีหลายอย่าง เช่น เป็นผู้ที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำกุศล ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กุศลจิตเกิด หรือเวลาที่อกุศลจิตเกิดแล้วระลึกได้ และเห็นว่าเป็นโทษ ขณะนั้นก็ทำให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศลได้ หรือการสะสมที่เคยทำกุศลอย่างนั้นบ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้

    ผู้ฟัง การใคร่เป็นผู้ฟังธรรม สำหรับในประเทศไทย ผมว่ายากเหลือเกิน ผมนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีกิจของท่านอยู่ข้อหนึ่งว่า สายัณเห ธัมมเทสนัง ทุกเย็นเราไปฟังธรรมได้แน่ ถ้าเกิดในสมัยนั้น คงจะมีความอิ่มเอิบ มีปีติจริงๆ เย็นได้ไปฟังธรรมแน่นอน แต่เดี๋ยวนี้ฟังธรรมก็ไม่ค่อยแน่นอน อีกประการหนึ่ง การฟังจากวิทยุ กับอย่างสมัยพุทธกาล ทุ่มหนึ่งผมไปฟังธรรม ผมว่าผมมีศรัทธาที่จะไปได้ปีละ ๓๖๕ วัน เว้นแต่จะป่วยเจ็บเท่านั้นเอง ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ ก็ยังมี สายัณเห ธัมมเทสนัง อย่างเวลานี้แม้อาจารย์อยู่แค่ซอย ๗๑ นึกจะไป ก็ยังมีอะไรๆ ที่ไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีศรัทธาอยากจะฟังพระธรรมจริงๆ ยิ่งเป็นพระธรรมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แต่ถ้าเป็นธรรมของคนอื่น คงจะไม่มีศรัทธา

    สุ. ขณะนี้ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าย้อนกลับไปสมัยหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ศรัทธาของท่านจะเหมือนอย่างที่กล่าวไว้หรือเปล่า เพราะว่าทุกท่านมีภารกิจมากในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์

    . ถ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมคิดว่าคงจะวางหมด

    สุ. นั่นเป็นความคิดในขณะที่ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้า คิดในมุมกลับ พระไตรปิฎกอยู่ที่บ้าน จะฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน ที่พระวิหาร นิโครธาราม ที่พระวิหารเวฬุวัน ที่พระวิหารโกสัมพี หรือที่ไหนย่อมได้ทั้งนั้น โดยเพียงแต่มีเวลาที่จะอ่านพระไตรปิฎก

    . อรรถ และนิรุตติภาษาเราไม่เพียงพอ อ่านแล้วพูดกันอย่างชาวบ้าน คือไม่ค่อยสนุก

    สุ. พระธรรมเป็นสัจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งทุกคนฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ก็เห็นประโยชน์ และเพลิดเพลินในธรรมได้ เพลิดเพลินร่าเริงในกุศล ไม่ใช่เพลิดเพลินอย่างอกุศล แต่ใครจะรู้ว่า เคยฟังหรือไม่เคยฟังพระธรรมจาก พระโอษฐ์มาก่อน และพระธรรมที่ทรงแสดงที่พระวิหารเชตวันหรือพระวิหารเวฬุวันนั้น ก็ไม่ต่างกับที่ท่านพระอานนท์ท่านได้ทรงจำ และสังคายนา และท่านพระเถระทั้งหลาย ก็ทรงจำสืบต่อกันมา ซึ่งข้อความมีความไพเราะในอรรถ ถ้าเพียงแต่จะพิจารณา ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง

    นี่ก็เป็นเรื่องของอุบาสิกาที่มีศรัทธาในการฟังธรรม ซึ่งบางท่านในยุคนี้สมัยนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ว่า ท่านจะทำอย่างนั้นได้ไหม หรือไม่ได้ เพราะเหตุใด ก็เพราะว่าศรัทธาไม่เท่ากัน ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถรู้ศรัทธา ของตนเองว่า มีศรัทธามั่นคงในการฟังพระธรรมแค่ไหน

    ถูกหรือผิดที่ทำอย่างนั้น ถ้าถูก ท่านพิจารณาอย่างไรในขณะนั้น เพราะว่า ท่านกำลังฟังพระธรรมอยู่ และผู้ที่จะรู้แจ้งเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นไม่ใช่เพียง ฟังเฉยๆ แต่สติย่อมระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เมื่อ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ย่อมรู้ว่าธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา ไม่ว่าสภาพธรรมจะปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป แม้แต่เรื่องของลูกที่ถูกงูกัด ก็จะต้องรู้ว่าทางทวารไหน เป็นความคิดก็เป็นมโนทวาร และสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    ย่อมเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม เพราะถ้าไม่มีกรรมที่จะถูกงูกัด ใครก็ถูกงูกัดไม่ได้ในขณะนั้น และการที่จะมีชีวิตอยู่หรือตายลงในวันหนึ่งวันใด ก็เพราะกรรมอีก เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล ก็ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้

    ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมที่ได้ฟัง และเป็นผู้ที่มีสติปัญญามั่นคง จะเป็นผู้ที่ ไม่กังวลใจ ไม่เดือดร้อน และสามารถแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยไม่เดือดร้อนด้วย

    ผู้ฟัง เรื่องอุบาสิกาที่กำลังฟังธรรม และลูกถูกงูกัดนี้ ถ้าเป็นเหตุการณ์ใน สมัยนี้คงจะถูกหนังสือพิมพ์เอาไปโจมตีเป็นเรื่องใหญ่โต หาว่าเป็นแม่ที่ขาดเมตตา ไม่รักลูก แต่เท่าที่อาจารย์บรรยายมา ผมว่าอุบาสิกาผู้นี้ไม่ใช่เป็นคนฟังธรรมเหมือนอย่างที่เข้าใจกันธรรมดา เพราะท่านฟังธรรมด้วย มีสติตามระลึกไปด้วย คือ เข้าใจธรรม เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านก็ย่อมรู้ว่า ลูกที่งูกัดต้องเป็นกรรมของเขาที่เคยทำมา เพราะท่านว่า เคยเป็นลูกเป็นแม่กันมา ก็หลายชาติ ผมจึงเชื่อมั่นว่า เป็นไปได้ที่คนเข้าใจธรรมอย่างถูกต้อง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรจะปรากฏก็เข้าใจอย่างถูกต้องในขณะนั้น จึงเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะถ้าไม่เข้าใจ ธรรมถูกต้อง จิตใจจะหวั่นไหวไปตามอารมณ์หมด ซึ่งคนที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่มีสติระลึกรู้ ไม่สามารถทำได้เป็นอันขาด

    และที่อาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกนั้นเป็นพุทธวจนะ เป็นตัวแทนของ พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมก็เป็นศาสดา เป็นครู เป็นอาจารย์แทนพระองค์ ที่ท่านตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว จะเป็นศาสดาแทนพระองค์แต่เราก็มีพระไตรปิฎกอยู่ในบ้าน ซื้อมา ๔ – ๕ พัน ก็ไม่ค่อยจะเปิดดู จะว่ามีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธาก็ไม่รู้ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ไม่ค่อยจะได้เปิดดูเท่าไร เพราะฉะนั้น เรื่องศรัทธาที่จะมีจริงๆ ต้องเกิดจากมีความเข้าใจ เพราะบางทีอ่านพระไตรปิฎกแล้ว อ่านไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ ยกตัวอย่างที่อาจารย์เคยพูดว่า สัตว์บุคคลเบื้องหน้าแต่ตายแล้วไปเกิดอีกหรือไม่ อะไรอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าคนมีกิเลสก็ต้องไปเกิดอีก แต่ พระพุทธองค์บอกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ ผมไม่เข้าใจที่ว่า สัตว์บุคคลที่ตายแล้วจะไปเกิดอีก ทำไมจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เมื่ออาจารย์พูดว่า สัตว์บุคคลไปเกิดไม่ได้ เพราะเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่สภาวธรรม ผมจึงได้เข้าใจ แต่ถ้าเราไม่ได้ฟัง เราไม่สามารถรู้ได้เลย คนตายไปเกิดไม่ได้ สัตว์ตายไปเกิดไม่ได้ เพราะว่าที่ไปเกิดนั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นสภาวธรรม ที่ว่าเป็นไปตาม จิตตนิยาม คือ จุติจิตเกิด และดับปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อทันที ซึ่งทางโลกเรียกว่า สัตว์ตาย คนตาย แต่ความจริงไม่ใช่สัตว์ตาย คนตาย เป็นแต่เพียงจุติจิตเกิด และดับปฏิสนธิเกิดต่อทันที

    เป็นเรื่องที่หาฟังได้ยาก และเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก ผมเห็นใจคนอื่นรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ และศึกษาให้เข้าใจ ที่จะให้เกิดอุตสาหะ ให้เกิดศรัทธา ให้มีความพยามยามที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อๆ ไป เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ ที่จะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่อ่าน แม้จะอ่านพระไตรปิฎกแล้วก็ดี ทั้งๆ ที่อ่านจบไปแล้วสองเที่ยว สามเที่ยว ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ

    สุ. ก็จะต้องสะสมศรัทธาอีกเรื่อยๆ เพราะว่าส่วนใดที่ยังไม่เข้าใจ ลองอ่านอีก ตั้งใจอ่าน และพิจารณา ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นจริงๆ เพราะบางที ในขณะที่อ่านอาจจะสนใจข้อความตอนอื่น และข้ามตอนที่ไม่เข้าใจไป โดยที่อาจจะคิดว่าไม่ได้ข้าม แต่เมื่อไม่ได้เพ่งถึงความละเอียด ไม่ได้ใส่ใจใคร่ครวญพิจารณา ตอนนั้นจริงๆ ก็ทำให้ไม่เข้าใจ ลองอ่านใหม่อีก และลองพิจารณาส่วนที่ไม่เข้าใจ

    แม้แต่เรื่องของอุบาสิกาซึ่งลูกถูกงูกัด ก็จะได้เห็นศรัทธาที่มั่นคงว่า การที่ นางคิดว่า ถ้าเราจะบอกว่าลูกของเราถูกงูกัด ก็จะเป็นอันตรายแก่การฟังพระธรรม คือ อาจจะทำให้คนอื่นพลอยวุ่นวายด้วย ใช่ไหม ขณะที่ทุกคนกำลังมีโอกาสได้ ฟังพระธรรมนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้การฟังพระธรรมนั้นหยุดชะงักลงได้ ซึ่ง ถ้าแลกกันแล้ว ก็คิดว่า การฟังพระธรรมซึ่งเป็นโอกาสที่หายาก ควรจะมีมากกว่า ที่จะมีความทุกข์ความกังวลใจในเรื่องของลูก ซึ่งนางเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในกรรม จริงๆ ว่า การที่ลูกถูกงูกัดก็ต้องเป็นผลของกรรม และการที่ลูกจะตาย ถ้าถึงเวลาตายจริงๆ ใครก็ไม่สามารถช่วยได้ แต่ด้วยศรัทธาที่มั่นคง เมื่อได้บรรลุโสดาบันเมื่อ อรุณขึ้นแล้ว ก็ได้ทำลายพิษงูในบุตรด้วยสัจจกิริยา

    ถ. พระสูตรนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีความตั้งมั่นในศรัทธาในครั้งพุทธกาล แต่ในสมัยนี้ ถึงแม้เหตุการณ์อย่างนี้จะไม่มีเกิดขึ้น แต่ผู้ที่ศึกษาบางครั้งก็มี ความคิดเห็นไปอีกแง่หนึ่ง เห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นการเอาตัวรอดเฉพาะตนบ้าง เป็นการไม่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น เพียงแต่มุ่งที่จะเจริญสมณธรรมโดยไม่เห็นว่าผลเสียหรือโทษจะเกิดกับผู้อื่น ซึ่งโดยส่วนตัวเองก็เคยโดนเรื่องนี้เหมือนกัน ไม่ทราบจะหาเหตุผลอย่างไรมากล่าวแก้เขาดี

    สุ. ในขณะที่ฟังพระธรรม มีความเข้าใจในพระธรรม และพระธรรมที่ ทรงแสดงก็แสดงเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สิ่งใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ในเวลานั้น และแม้ในขณะนี้ ก็เป็นอนัตตาด้วย โดยเฉพาะ เรื่องของวิบากจิต ถ้าปราศจากกรรมแล้วย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่ลูกถูกงูกัดเป็นผลของกรรมแน่นอน และถ้าถึงคราวที่ลูกจะตาย แม้จะโวยวาย หรือ ทำให้คนอื่นรู้ว่าลูกถูกงูกัด ลูกก็ต้องตายอยู่ดี ถ้ายังไม่ถึงคราวที่ลูกจะตาย และ มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก แต่ถ้านางให้คนอื่นทราบว่า ลูกของนางถูกงูกัด ก็อาจทำให้การฟังธรรมนั้นต้องสิ้นสุดลง เพราะฉะนั้น ก็เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของการฟังพระธรรมทั้งของนางเอง และคนอื่น

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1544


    ผู้ฟัง ก็ยังดีที่ในพระสูตรตอนท้าย อุบาสิกานั้นสามารถช่วยบุตรให้รอดชีวิตได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะที่ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ ธรรม และชีวิตของบุตร ในกรณีอย่างนี้ สมมติว่าเราเลือกธรรม และเราไม่ได้ปฏิบัติช่วยเหลือ ตามควรอะไรเลย ก็จะถูกชาวโลกในสังคมสมัยปัจจุบันมองไปอีกแง่หนึ่ง คือ แทนที่จะเห็นไปในทางกุศล ก็กลับเห็นไปในทางอกุศล อาจจะคิดว่าธรรมของ พระพุทธองค์เป็นธรรมที่สอนให้คนหลีกเร้น และปฏิเสธสิ่งที่ตนเองต้องรับผิดชอบ อะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ก็ยากที่จะอธิบาย

    สุ. ต้องแล้วแต่กาละว่า ขณะนั้นเป็นกาละของการฟังพระธรรม หรือว่า เป็นในกาละอื่น ในขณะนี้บางท่านอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายก็ได้ แต่ก็ไม่บอกใคร ก็นั่งฟังพระธรรมต่อไป โดยเกรงว่าคนอื่นจะต้องพลอยวุ่นวายไปด้วย หรือไม่ได้ฟัง พระธรรมต่อไปก็ย่อมเป็นได้ ถ้าเทียบจากสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เพื่อแสดงระดับของศรัทธา คือ ถ้าไม่ใช่อุบาสิกาท่านนั้น เป็นบุคคลอื่น ก็จะไม่ทำอย่างนั้น แต่เมื่ออุบาสิกาท่านนั้นทำอย่างนั้น ย่อมแสดงถึงศรัทธา และความเชื่อมั่น ในกรรม และเมื่อหมดเวลาของการฟังพระธรรมแล้ว อุบาสิกาก็ได้ทำหน้าที่ของอุบาสิกา คือ ช่วยเหลือบุตรด้วยสัจจกิริยา เพราะว่านางได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระโสดาบันแล้ว มีกุศลศรัทธาถึงอย่างนั้น ในขณะที่เห็นลูกถูกงูกัด

    ถ้าใครเห็นผู้ซึ่งเป็นที่รัก ที่เคารพนับถือ จะเป็นมารดา บิดา หรือว่าบุตร มิตรสหายก็ตามแต่ กำลังได้รับภัย อาจจะเกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือความทุกข์เดือดร้อนประการใด จิตในขณะนั้นหวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นอกุศลจะดีไหม เศร้าโศก เสียใจ เดือดร้อน ดีไหม หรือเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติ และปัญญาในขณะนั้นยังสามารถระลึกถึงกรรมได้ และพร้อมกันนั้นยังรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ได้ด้วย อาศัยสัจจะ คือ ความจริงใจในขณะนั้น สามารถที่จะช่วยเหตุการณ์นั้นได้เมื่อยังไม่ถึงคราวที่กรรมอื่นจะให้ผล

    ถ้าเข้าใจเหตุกับผลให้ตรงกัน คือ อกุศลกรรมทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก และกุศลกรรมทั้งหลายก็มีกำลังที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก ซึ่งแล้วแต่ระดับขั้นของกุศลนั้น และแล้วแต่ระดับขั้นของความจริงใจซึ่งเป็นสัจจะนั้นด้วย

    เรื่องของการที่กรรมจะให้ผล ไม่มีใครสามารถจะพยากรณ์ได้ เมื่อถึงเวลา ที่กุศลกรรมจะให้ผล โรคภัยไข้เจ็บใดๆ ก็อาจจะหายไปหมดได้ หรืออาจจะทุเลาขึ้น ก็ได้ แล้วแต่ขั้นของกุศลกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป เป็นเรื่อง ของสภาพธรรมจริงๆ แต่สำหรับอุบาสิกาท่านนั้นท่านมองเห็นโทษว่า ถ้าบุคคลอื่นรู้ว่าลูกท่านถูกงูกัด ก็จะทำลายการฟังธรรมในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นคนอื่นจะคิดอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่ แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป เมื่อการฟังธรรมนั้นสิ้นสุดลง ท่านก็อาศัยสัจจะ คือ ความจริงใจของท่านในขณะนั้น ทำให้ลูกของท่านรอดพ้นจากอันตราย คือ ทำลายพิษงูได้

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ยากที่ใครจะรู้ผล ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม และกรรมก็มีทางของกรรม ซึ่งคนอื่นก็คาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้น ทั้งฝ่าย กุศลกรรม และอกุศลกรรม

    . อุบาสิกาได้แสดงสัจจกิริยาอะไร มีบอกไว้ไหม

    สุ. ไม่ได้กล่าวไว้ แต่คงจะหมายความถึงความรู้สึกของท่าน ความคิดของท่านในขณะที่ท่านเห็นลูกถูกงูกัด

    . ผมเคยฟังพระสูตรเรื่องหนึ่ง การแสดงสัจจกิริยา ต้องแสดงกันทั้งสามี และภรรยา ช่วยกันแสดงลูกจึงได้ฟื้นขึ้นมา ถ้าเป็นสมัยนี้ เขาคงไม่เชื่อกันเรื่อง สัจจกิริยา

    สุ. กรรมมีทางของกรรมที่จะให้ผล ทั้งอกุศลกรรม และกุศลกรรม ซึ่งโดยมากเราจะเห็นทางอกุศลกรรม คือ มีเหตุการณ์แปลกๆ ประหลาดๆ เกิดขึ้น โดยที่ไม่น่าจะเกิดเลย แต่เมื่อกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นได้รับ ผลของอกุศลกรรมนั้น อย่างนั้นๆ เฉพาะตนๆ ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    . ผมคิดว่า อุบาสิกาที่กำลังฟังธรรมอยู่นั้น ท่านได้วิบากที่ดี คือ ท่านต้องได้ฟังธรรมแน่ เพราะอาจารย์เคยบอกว่า การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี เป็นวิบาก ฉะนั้น ขณะนั้นวิบากของอุบาสิกาต้องดีแน่ ต้องได้ฟัง แม้งูกัดก็ยับยั้งไม่ได้ เพราะวิบากนั้นให้ผลแล้ว ท่านต้องได้ฟังจะได้บรรลุ ส่วนเรื่องการแสดงสัจจกิริยา ฟังๆ ดูแล้วจะเป็นอิทธิฤทธิ์หรือเปล่า

    สุ. เป็นผลของกุศล

    . เป็นผลของกุศลกรรม

    สุ. ใช่ เพราะกุศลกรรมเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังตามสภาพของกุศลนั้นๆ ที่จะให้ผล แล้วแต่ว่ากุศลนั้นมีกำลังแค่ไหน

    ผู้ฟัง พูดถึงสัจจกิริยา ผมนึกถึงวัฏฏกปริตร หรือพระปริตรที่ว่าด้วย นกคุ่ม คือ ตามประวัติมีว่า นกคุ่มเพิ่งจะออกจากไข่ใหม่ๆ ขนก็ยังอ่อนๆ อยู่ ขาแข้งก็ยังไม่แข็งแรงที่จะบินได้ และเกิดไฟป่าไหม้มาๆ จวนจะถึงอยู่แล้ว แม่ก็ออกไปหาอาหาร พ่อก็ออกไปหาอาหาร ลูกนกคุ่มก็ตั้งสัจจกิริยา สัจจกิริยานี้ตามศัพท์ หมายความว่า ทำความจริงหรือพูดความจริงนั่นเอง เช่นในนั้นบอกว่า

    สันติ ปักขา อะปัตตะนา ... มาตา ปิตา จะ นิกขันตา แปลความว่า มารดาบิดาก็ไม่อยู่ ออกไปข้างนอก ปีกมีอยู่แต่ว่าขนยังไม่มี ยังบินไม่ได้ เท้ามีแต่ ยังไม่แข็งแรง ด้วยการทำสัจจกิริยาอย่างนี้ขอให้ไฟป่าหยุด ไฟป่าก็หยุด มาไม่ถึง นี่เป็นความหมายของคำว่า สัจจกิริยา คือ พูดความจริง ความจริงมีอะไรก็พูดออกไป อย่างเช่นที่ลูกนกคุ่มพูด

    สุ. ไม่ทราบว่ามีใครคิดจะใช้สัจจกิริยาอะไรบ้างหรือเปล่า หรือนึกไม่ออกเวลาที่มีภัยอันตราย แต่คงจะได้ยินเรื่องเล่าจากญาติมิตรสหายหลายท่านเหมือนกันว่า เวลาที่ท่านได้รับอันตราย ท่านรอดพ้นจากอันตรายนั้นด้วยอะไร อย่างเช่น ท่านผู้หนึ่งคราวที่เรือล่ม ท่านอยู่ใต้แพ ซึ่งมีหลายคนที่จมน้ำตายเพราะว่าออกจากใต้แพไม่ได้ ท่านผู้นั้นระลึกถึงพระคุณของมารดา ขณะนั้นเองก็มีทางออกจากใต้แพนั้นได้

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละท่านก็ไม่ทราบทางของกรรม ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลที่จะให้ผล สุดวิสัยที่ใครจะคิดได้ว่า เหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้นเป็นไป เพราะผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แต่ไม่ว่าผลใดๆ จะเกิด ผู้ที่ยังต้องวนเวียนไปอยู่ในสังสารวัฏฏ์ก็รู้ว่า ท่านมีทั้งอกุศลกรรม และกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหวท่านก็ต้องได้รับผลของกรรมนั่นแหละ จะเปลี่ยนแปลง ผลของกรรมนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพียงแต่เมื่อได้รับผลของกรรมประเภทใดก็ควร ที่จะพิจารณาจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพื่อจะได้ขัดเกลาอกุศล เพราะว่าเป็นของธรรมดาที่ทุกคนย่อมต้องได้รับผลของกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้างในวันหนึ่งๆ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1545


    หมายเลข 13128
    30 ก.ย. 2567