ลักษณะของศรัทธาที่มีกำลังที่มั่นคง*
สำหรับศรัทธาทั่วๆ ไป จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีกำลัง ยังไม่ชื่อว่ามั่นคง เพราะว่าศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เกิด และดับไปอย่างรวดเร็ว และศรัทธาที่ดับไปนั้น อาจจะไม่เกิดอีกนานก็ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของศรัทธาที่มีกำลังที่มั่นคงใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ทัฏฐัพพสูตร ข้อ ๑๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือสติ ๑ กำลังคือสมาธิ ๑ กำลังคือปัญญา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธา ในที่ไหน พึงเห็นใน โสตาปัตติยังคะ พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธา ในที่นี้
คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดาบันอย่างหนึ่ง และองค์ธรรมของคุณธรรมของพระโสดาบันบุคคลอีกอย่างหนึ่ง
พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่นี้
พึงเห็นกำลัง คือ สติ ในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ สติ ในที่นี้
พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิ ในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิ ในที่นี้
พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญา ในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจ ๔ พึงเห็นกำลัง คือปัญญา ในที่นี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๕
เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่า ศรัทธาของท่านถึงความเป็นพละ หรือว่ายังไม่ถึง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธา ในที่ไหน พึงเห็นในโสตาปัตติยังคะ คือ องค์เป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดาบัน ๔ ประการ ได้แก่ การคบสัตบุรุษ ๑ ฟังธรรมของท่าน ๑ พิจารณาธรรม ๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑
สำหรับโสตาปัตติยังคะซึ่งเป็นคุณธรรมของพระโสดาบัน ๔ ประการ คือ ความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย ในพระพุทธรัตนะ ๑ ในพระธรรมรัตนะ ๑ ในพระสังฆรัตนะ ๑ และในศีล ๑ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล ๕ เลย
เพราะฉะนั้น ศรัทธาของแต่ละท่านในแต่ละวัน จะต้องอบรมจนกว่าจะมีกำลังที่จะเป็นพละอย่างนั้น
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะ ในที่นี้
วิริยะ คือ ความพากเพียรในการเจริญกุศล ในการเจริญปัญญา ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เกิดสัมมาสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่เห็นวิริยะ ซึ่งจะต้องอดทนจริงๆ จะต้องมีความเพียรที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
คิดดูก็แล้วกันว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิริยะ ความเพียรที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะมีกำลังก็เมื่อเป็นสัมมัปปธานเกิดร่วมกับสติปัฏฐานระลึกลักษณะของ สภาพธรรม ซึ่งยากจริงๆ ใช่ไหม ให้ทำอย่างอื่นชั่วโมงหนึ่งก็เสร็จ หรือว่า ๓ วันก็เสร็จ อาทิตย์หนึ่งก็เสร็จ เดือนหนึ่งก็เสร็จ แต่การที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยวิริยะที่เป็นสัมมัปปธานซึ่งเกิดร่วมกับสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จะเห็นวิริยะ ความเพียร ซึ่งจะต้องเพียรไปทุกชาติจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้
พึงเห็นกำลัง คือ สติ ในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔
สติวันหนึ่งๆ ที่เกิด เป็นไปในทานก็น้อยครั้ง เป็นไปในศีลก็น้อยครั้ง แต่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของสติเมื่อสติสามารถระลึกได้ ในขณะนี้นั่นเอง ถ้าสติสามารถจะระลึกได้ ก็เรียกว่าเป็นสติที่มีกำลัง
พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิ ในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔
ถ้าพูดถึงความสงบของจิตที่มั่นคง ต้องเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนา เพราะว่าไม่ใช่ขณิกสมาธิที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชั่วขณะ แต่ต้องเป็นความสงบของจิตที่ระลึกในอารมณ์ที่ทำให้สงบจนกระทั่งจิตสงบเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น
พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญา ในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจ ๔
ขณะใดที่รู้แจ้งลักษณะของอริยสัจธรรม แสดงว่าในขณะนั้นเป็นปัญญา ที่มีกำลัง
ประโยชน์ของศรัทธาจะเห็นได้ว่า จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ตั้งแต่ขั้น ของการฟัง และขั้นที่จะพิจารณาตนเอง แก้ไขตนเอง โดยการขัดเกลาอกุศลธรรม จนกระทั่งเป็นศรัทธาในการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พลวรรคที่ ๒ อนนุสสุตสูตร ข้อ ๑๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราบรรลุถึงบารมีอันเป็นที่สุด เพราะรู้ยิ่งในธรรมที่ไม่ได้สดับแล้วในกาลก่อน จึงปฏิญาณได้ กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้ที่เป็นเหตุ ให้ตถาคตผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นหัวหน้า ผู้เป็นใหญ่ บันลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร กำลัง ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือหิริ ๑ กำลังคือโอตตัปปะ ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือปัญญา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้แล ที่เป็นเหตุให้ตถาคต ผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นใหญ่ บันลือสีหนาทในบริษัท ประกาศ พรหมจักร
แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง การที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องอาศัยศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา เป็นพละ คือ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง มิฉะนั้นก็ไม่สามารถบรรลุได้
ที่มา ...