เรื่อง ยสกุลบุตร


    ยสกุลบุตรก็เปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคอีกว่า "ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับ ยสกุลบุตรว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง" มาเถิด ยสะ


    ในพระวินัย มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ เรื่อง ยสกุลบุตร

    ยสกุลบุตรเป็นบุตรเศรษฐีในพระนครพาราณสี เป็นผู้ที่เพียบพร้อมสมบรูณ์ ด้วยกามคุณ ๕ มารดาบิดาก็สร้างปราสาทให้อยู่ถึง ๓ หลัง สำหรับหน้าหนาวหน้าร้อน หน้าฝน และท่านเป็นผู้ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยกามคุณ แต่ถึงกระนั้นก็ตามจิตของผู้ที่ได้สะสมเจริญอินทรีย์มาในอดีตนั้น ก็ทำให้ท่านสามารถที่จะเห็นโทษหรือว่าเกิดจิตที่เบื่อหน่ายในสิ่งที่ท่านมองเห็น ซึ่งคนอื่นเห็นว่าเป็นความเพลิดเพลินเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ถึงกับเปล่งอุทานว่า "ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" (ก็คงจะเป็นการบ่น เวลาที่เห็นสิ่งที่รู้สึกว่า ไม่ใช่ความสงบ) แล้วยสกุลบุตรท่านก็สวมรองเท้าทองเดินตรงไปที่ประตูบ้าน พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่าใครๆ อย่าได้ทำอันตราย แก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย ลำดับนั้น ยสกุลบุตรเดินตรงไปทางประตูพระนคร ยสกุลบุตรก็ได้เดินตรงไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

    ขณะนั้นก็เป็นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ก็เสด็จลงมาจากที่จงกรมประทับ นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรก็เปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคอีกว่า "ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับ ยสกุลบุตรว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง" มาเถิด ยสะ นั่งลงเราจักแสดงธรรมแก่เธอ ยสกุลบุตรพอได้ยินว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง" ก็รู้สึกร่าเริงบันเทิงใจ ก็ถอดรองเท้าทอง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดง อนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นการแสดงธรรมตามลำดับ คือทรงแสดงเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสวรรค์ เรื่องโทษของกาม เรื่องอานิสงส์ในการออกจากกาม และตอนสุดท้ายก็ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งก็มีเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นมรรค ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล รุ่งเช้ามารดาของยสกุลบุตรไม่เห็นบุตร ก็ได้ไปบอกท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาก็ได้ให้คนขี่ม้าไปตามหายสกุลบุตรทั้ง ๔ ทิศ ส่วนตัวเองนั้นไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อไปถึงก็เห็นรองเท้าทองวางอยู่ ก็ตามไปสู่ ณ ที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิไม่ให้เศรษฐีเห็นบุตร เศรษฐีก็ทูลถามถึงยสกุลบุตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คหบดี ถ้าอย่างนั้นเชิญนั่ง บางทีท่านนั่งอยู่ ณ ที่นี้ จะพึงได้เห็น ยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้ เศรษฐีพอได้ฟังก็ดีใจว่า ถ้าท่านเศรษฐีนั่งอยู่ที่นั่นก็จะได้เห็นบุตรชาย เพราะฉะนั้น เศรษฐีก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรม เช่นเดียวกับยสกุลบุตร คือทรงแสดง อนุปุพพิกถา เศรษฐีก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา เศรษฐีก็ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้

    ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำที่ข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคก็ได้คลายฤทธิ์ ให้ท่านเศรษฐีได้เห็นยสกุลบุตร ซึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับเศรษฐีซึ่งเป็นบิดานั้น ยสกุลบุตรก็ได้ฟังธรรมนั้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงคลายฤทธิ์ ให้เศรษฐีได้เห็น ยสกุลบุตร เศรษฐีก็ได้บอกแก่ยสกุลบุตรให้ทราบถึงความทุกข์ความเศร้าโศกของ มารดา เพื่อให้ยสกุลบุตรกลับไปครองเรือนอย่างเก่า ซึ่งยสกุลบุตรก็ได้ชำเลืองดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านเศรษฐีว่า ยสกุลบุตรหมดกิเลสแล้ว ควรหรือที่จะกลับเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ซึ่งท่านเศรษฐีก็ได้กราบทูลว่า "ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า" แล้วพร้อมกันนั้นก็ได้กราบทูลว่า "เป็นลาภของยสกุลบุตร ที่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์" แล้วได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาค มียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะให้รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับโดยดุษณีภาพ เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสกุลบุตรก็ขออุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์ ที่ ๗ นับพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์องค์ ที่ ๑ ปัญจวัคคีย์อีก ๕ ท่านพระยสกุลบุตรก็เป็นองค์ที่ ๗ ซึ่งท่านเศรษฐีนั้นเมื่อได้เห็นธรรม ได้ประกาศตนถึงพระรัตนตรัยแล้ว เศรษฐีผู้เป็นบิดาของยสกุลบุตร ก็เป็นอุบาสกที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นคนแรกในโลก เวลานี้ทุกท่านที่เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา ท่านก็ได้กล่าวคำนี้กันอยู่เสมอ คือถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ แต่ท่านอาจจะไม่ทราบว่าใครเป็นอุบาสกคนแรกที่ได้กล่าวคำนี้ ก็ให้ทราบด้วยว่าเป็นบิดาของยสกุลบุตร

    ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จไปที่บ้านเศรษฐีพร้อมด้วยท่านพระยสะมารดา และภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็มาเฝ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ซึ่งเมื่อมารดา และภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้ฟังธรรมก็ได้บรรลุธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะจำเดิมแต่วันนั้นเป็นต้นไป มารดา และภรรยาเก่าของท่าน พระยสะก็เป็นอุบาสิกา ที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นคู่แรก

    ท่านพระยสะท่านเป็นบุตรเศรษฐี เพราะฉะนั้น ท่านก็มีสหายคฤหัสถ์เป็นอันมากทีเดียว สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยสะ คือ วิมะละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ล้วนเป็นบุตรเศรษฐีสืบๆ มาในพระนครพาราณสี เมื่อสหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะได้ทราบข่าวว่าท่านพระยสะได้บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็คิดว่าการกระทำของท่านพระยสะนั้น ต้องเป็นทางที่ไม่ต่ำทรามเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ท่านก็พากันไปหาท่านพระยสะ ท่านพระยสะก็พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายทั้ง ๔ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา แล้วสหายทั้ง ๔ นั้น ก็บรรลุเป็นพระอริยบุคคล เมื่อบรรลุเป็นพระอริยบุคคลบวชแล้วได้ฟังธรรม ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อีก ๔ ท่าน ก็รวมเป็นพระอรหันต์ ๑๑ องค์

    มีข้อปฏิบัติเป็นแบบฉบับที่ต้องให้ทำอย่างนั้น ต้องให้ทำอย่างนี้ ให้นั่งอย่างนั้น ให้เดินอย่างนี้ หรือให้เริ่มที่โน่น ให้ตั้งต้นที่นี่ ในพระไตรปิฏกไม่ได้กล่าวไว้เลย ต่อจากสหายคฤหัสถ์ ๔ คน ก็ถึงสหายคฤหัสถ์ ๕๐ คนเป็นชาวชนบทเป็นบุตรของสกุลเก่าๆ สืบๆ กันมาในพระนครพาราณสี ซึ่งก็ได้ไปหาท่านพระยสะ พระยสะก็ได้พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเช่นเคย กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหาย ก็เหมือนกันอีก คือ ทรงแสดงอนุปุพพิกถากับอริยสัจจ์ ๔ แล้วสหาย คฤหัสถ์นั้นก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน และเมื่อได้ฟังธรรมต่อไปก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะคิดได้ ว่าเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านจะต้องติดอยู่ในเรื่องของระเบียบ เรื่องของกฏเกณฑ์ต่างๆ ไหม สำหรับตอนนี้ มีผู้ใดสงสัยบ้างไหมคะ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 23


    หมายเลข 13141
    29 ก.ย. 2567