ความต่างกันของพระพุทธรัตนะและพระสังฆรัตนะ


    สำหรับความต่างกันของพระพุทธรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ซึ่งเป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดา ทรงเป็นผู้ชี้หนทางให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตาม

    ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณากส์ พุทธสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างกันของพระองค์กับพระสงฆ์สาวกว่า

    พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดพ้นเพราะหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เทวดา และมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้วเพราะหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไรเป็นข้อประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆ ไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง อันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคต-อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

    จบ สูตรที่ ๖

    ข้อความในพระสูตรนี้สั้น คงจะยังไม่สามารถทำให้เห็นความต่างกันของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวก ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบความละเอียดในพระไตรปิฎกบ้าง และในอรรถกถาบ้าง ที่แสดงถึงพระคุณที่ต่างกันของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ซึ่งเป็นสังฆรัตนะ

    ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ได้อุปมาลักษณะของพระรัตนตรัย มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาค คือ พระพุทธรัตนะ เปรียบดุจพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เปรียบดุจข่ายรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญ พระสงฆ์เปรียบด้วยพื้นโลกที่มีความเร่าร้อน อันรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญสาดส่องแล้ว คือ หมายถึงผู้ที่มีความเร่าร้อนอันสงบแล้วเพราะรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญ

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจลักษณะของความเร่าร้อนว่าคือ ทุกๆ ขณะที่เกิดจากกิเลส และการยึดถือสภาพธรรมเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ เปรียบด้วยพื้นโลกที่มีความเร่าร้อน อันรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญสาดส่องแล้ว เพราะว่าเป็นผู้ที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยพระอาทิตย์อ่อน พระธรรมซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว เปรียบด้วยข่ายรัศมีแห่งพระอาทิตย์อ่อนนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจโลกที่มีความมืดมน อันพระอาทิตย์อ่อนนั้นขจัดแล้ว

    ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงเปรียบด้วยพระอาทิตย์อ่อน เพราะถ้าเป็นพระอาทิตย์ซึ่งแรงกล้า ก็ย่อมจะเผาไหม้ ร้อน มีอันตราย แต่เมื่อเป็นพระอาทิตย์ที่อ่อน ก็ไม่ทำอันตรายเช่นนั้น

    พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยบุรุษเผาป่า พระธรรมซึ่งเผาป่าคือกิเลส เปรียบดุจไฟไหม้ป่า พระสงฆ์เปรียบดุจภูมิภาคอันเป็นที่นาเพราะมีป่าอันไฟไหม้แล้ว และชื่อว่าเป็นบุญเขตเพราะท่านเผากิเลสได้แล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจมหาเมฆ พระธรรมเปรียบดุจน้ำฝน พระสงฆ์ซึ่งมีเรณูคือกิเลสสงบระงับแล้ว เปรียบดุจชนบทที่มีละอองคือฝุ่นอันสงบแล้วเพราะฝนตกลงมา

    พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนนายสารถีผู้ฉลาด พระธรรมเปรียบดุจอุบายฝึกม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบดุจม้าอาชาไนยที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ถอนลูกศร เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิทั้งหมด ขึ้นได้ พระธรรมเปรียบดุจอุบายเครื่องถอนลูกศร พระสงฆ์คือผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิได้แล้ว เปรียบเหมือนคนที่มีลูกศรอันถอนขึ้นแล้ว

    อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ถอนลูกศร เพราะถอนคือลอกฝ้า ในดวงตาคือโมหะขึ้นเสียได้ พระธรรมเปรียบดุจอุบายที่เป็นเครื่องลอกฝ้า พระสงฆ์ คือผู้ลอกฝ้าคือโมหะได้แล้ว และผู้มีนัยน์ตาคือญาณอันแจ่มใส เปรียบดุจคนที่มีนัยน์ตาอันแจ่มใสเพราะลอกฝ้าออกเสียแล้ว


    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 786


    หมายเลข 13145
    29 ก.ย. 2567