ภิกษุในเมืองโกสัมพีเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาทกัน


    สำหรับเรื่องประโยชน์ของการศึกษาธรรม ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ฟัง และมนสิการในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในพระวินัยปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม ก็ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โกสัมพิยสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี สมัยนั้น พวกภิกษุในเมืองโกสัมพีเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท เสียดสีกัน และกันด้วยปากเพียงดังว่าหอกอยู่ ไม่ยังกัน และกันให้เข้าใจ ไม่ปรารถนาความเข้าใจกัน ไม่ยังกัน และกันให้ปรองดอง ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ๖ ประการ อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำความรักกัน ทำความเคารพกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน

    เป็นเรื่องสำคัญหรือเปล่า หรือไม่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงฟังเฉยๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ หรือว่ามีอรรถอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเหตุใดภิกษุจึงทะเลาะวิวาทกัน ต้องมีเหตุใช่ไหม ถ้าไม่มีเหตุ ก็ไม่ทะเลาะไม่วิวาทกันแน่ แต่เมื่อทะเลาะวิวาท ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ นี่เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่บุคคลทั้งหลายยังมีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือภิกษุก็ตาม อกุศลธรรม และอกุศลกรรมต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ

    พระธรรมที่จะทรงแสดงต่อไป ก็เพื่อเกื้อกูลแก่การดับกิเลสให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพื่อจะได้ไม่ทะเลาะ ไม่วิวาทกัน เพื่อจะได้ปรองดองกัน เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาทั้งหมดไม่ใช่เล็กน้อย เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าท่านผู้ฟังจะมนสิการในเหตุในผลที่ได้ทรงแสดง

    ธรรม ๖ ประการ อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำความรักกัน ทำความเคารพกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน ธรรม ๖ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ

    ประการที่ ๒ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งวจีกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ

    ประการที่ ๓ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้ง และที่ลับ

    เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก บางครั้งทางกายไม่ล่วงออกไป ทางวาจาก็ไม่ล่วง แต่ทางใจยังมี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้เรื่องของธรรมทั้งปวง จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการขัดเกลา เพื่อการละทั้งกายกรรม ทั้งวจีกรรม และมโนกรรมด้วย

    ที่มา .. แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 327

    ประการที่ ๔ แบ่งปันลาภที่เกิดขึ้นโดยธรรม ได้มาโดยธรรม ที่สุดเป็นลาภสักว่าอาหารที่เนื่องในบาตร ก็บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน บริโภคเป็นสาธารณะกับเพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีล

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาถึงจิตใจของแต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่า เรื่องของลาภ ย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลอื่นด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวท่านเท่านั้น หรือว่าลาภแม้สักว่าอาหารที่เนื่องในบาตร ก็จัดว่าเป็นลาภสำหรับภิกษุ ที่ไม่ควรจะบริโภคโดยเกียดกันไว้เฉพาะตน แต่ควรบริโภคเป็นสาธารณะกับเพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีล นี่เป็นกุศลไหม การที่จะระลึก นึกถึงจิตใจ ความปรารถนาของบุคคลอื่น แม้ในลาภสักว่าอาหาร ก็กระทำให้เป็นประโยชน์ได้ เป็นการขัดเกลากิเลสให้เบาบาง

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาในเรื่องของการขัดเกลากิเลสของตน พระธรรมทั้งหมดจะเกื้อกูลให้ท่านค่อยๆ น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เป็นการทำให้กิเลสเบาบาง และสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

    ประการที่ ๕ ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน ในศีลเช่นนั้นกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย คือ ศีลไม่ขาด ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันท่านผู้รู้สรรเสริญ ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับอยู่

    ถ้าจะไม่วิวาทกัน ไม่ทะเลาะกัน ก็ต้องเป็นผู้มีศีลเสมอกัน คือ เป็นผู้ที่ศีลไม่ขาด ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันท่านผู้รู้สรรเสริญ ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับอยู่

    ประการที่ ๖ ถึงความเป็นผู้เสมอด้วยทิฏฐิ อันไกลจากข้าศึกกับเพื่อน สพรหมจารีทั้งหลาย

    นี่เป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ ในเรื่องของความเห็นถูก ถ้ามีความเห็นผิดก็เป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทกันได้ เพราะฉะนั้น การที่จะขัดเกลากิเลสจะต้องเป็นผู้ที่เสมอกันด้วยทิฏฐิ ในความเห็นที่ถูกต้องเช่นเดียวกันด้วย ซึ่งข้อความนี้ ในพระไตรปิฎกได้อธิบายความหมายของทิฏฐิ อันไกลจากกิเลส

    ข้อ ๕๔๓

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสเป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรม นำออกซึ่งบุคคลผู้ทำตามนั้น เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

    เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสในภายในนั้น ที่เรายังไม่ละได้มีอยู่หรือหนอ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุม ก็ชื่อว่า มีจิตอัน ปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    มีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุม ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    มีจิตอันถีนมิทธะกลุ้มรุม ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    มีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    มีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุม ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้ ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    รู้สึกตัวบ้างไหม เมื่อสักครู่นี้จิตอันปริยุฏฐานกิเลสประเภทไหน นี่คือ ประโยชน์ของการฟังธรรม ประโยชน์ของการศึกษาธรรม อย่าให้เป็นเพียงศึกษาเรื่องปริยุฏฐานกิเลส แต่ว่าควรที่สติจะระลึกรู้ในลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยปริยุฏฐานกิเลส

    ข้อความต่อไปมีว่า

    และเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท เสียดสีกัน และกันด้วยปากเพียงดังว่าหอกอยู่ ก็ชื่อว่า มีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว

    ท่านผู้ฟังเคยทะเลาะกับใครบ้างหรือเปล่า เคยมีวาจาขัดแย้งกับใครบ้างหรือเปล่า ในเรื่องอื่น หรือว่าในเรื่องของธรรมก็ได้ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิต นามธรรม และรูปธรรมที่เป็นปัจจัยของการทะเลาะขัดแย้งในขณะนั้นบ้างหรือเปล่า ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ เมื่อไรปัญญาจึงจะรู้ชัดว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นกามราคะ หรือพยาปาทะ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เชื้อของกิเลสยังมี เป็นปัจจัย เมื่อได้รับกระทบกับอารมณ์ ก็เกิดการทะเลาะวิวาท ขัดแย้งในขณะนั้น แต่สติสามารถจะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริงในขณะนั้น จึงเป็นผู้ที่สามารถที่จะรู้จริง และละกิเลสได้ เป็นการศึกษาธรรมเพื่อประโยชน์ คือ การรู้ชัดด้วยการประจักษ์ในสภาพลักษณะของธรรมตามที่ได้ศึกษามาแล้ว

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสในภายในนั้นที่เรายังละไม่ได้แล้ว มิได้มีเลย จิตเราที่ตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจธรรมทั้งหลาย นี้ญาณที่ ๑ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว

    ผลทั้งหลายต้องตรงตามเหตุ ที่จะเป็น ญาณที่ ๑ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว ก็เพราะ จิตตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย

    ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกามฉันทะ เป็นสัจจะ เป็นของจริง เพราะฉะนั้น จิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย คือสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้ว ตามปกติ ตามความเป็นจริงนั่นเอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตนหรือหนอ

    อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตน นี้ญาณที่ ๒ เป็นอริยะ เป็นโลกกุตตระ ไม่ทั่วไปกับปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    ผลทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ คือ ต้องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ถ้าเป็นฝ่ายกุศลธรรมแล้ว หมายความถึงสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเป็นอกุศล หมายความถึงมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งในที่นี้แม้จะใช้พยัญชนะว่า ทิฏฐิ แต่ไม่ได้หมายความถึงมิจฉาทิฏฐิ แต่หมายความถึง ความเห็นถูก เพราะ อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ฯ

    ผู้ที่เจริญอบรมสติปัญญา จนกระทั่งรู้ชัดทันทีในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ลังเลสงสัยปะปนกันในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็รู้ใช่ไหม บุคคลที่ไม่ได้เจริญอบรม ไม่ได้เสพ ไม่ได้เจริญ ไม่ได้ทำให้มาก จะไม่มีความรู้อย่างนี้ ยังมีความสงสัย ยังมีความลังเล เพราะเหตุที่ยังไม่ได้เสพ ยังไม่ได้เจริญ ยังไม่ได้ทำให้มากซึ่งการอบรมสติ และความเห็นถูกอย่างนี้

    ประการต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มีอยู่หรือหนอ

    อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี นี้ญาณที่ ๓ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยะสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    ผู้ที่เห็นถูก อบรมถูก เจริญถูก ก็รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกว่า ความเห็นถูกอย่างนี้ที่เป็นผล ต้องมาจากเหตุ คือ การปฏิบัติ การเสพ การอบรม การเจริญที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิบัติผิด อบรมผิด เหตุผิดจะให้ผลถูก คือ การประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริงได้ไหม ขณะนี้ผู้ที่อบรมถูก เจริญถูก มีความเห็นถูก ก็รู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเห็นไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เที่ยง การได้ยินไม่เที่ยง เสียงที่ปรากฏทางหูไม่เที่ยง นามรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดไม่เที่ยง

    ผู้ที่ได้เจริญอบรมความเห็นที่ถูกต้อง ก็ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ด้วยสติ และปัญญาที่อบรมเจริญ จนกระทั่งมีความรู้ประจักษ์ในสภาพธรรมนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ย่อมรู้ชัดว่า ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏตามปกติ ไม่มีวันไหนเลยที่ปัญญาสามารถที่จะคมกล้า รู้ชัด แทงตลอดในความเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เหตุต้องตรงกับผล ด้วยเหตุนี้ พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าอริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี นี้ญาณที่ ๓ เป็นอริยะ เป็น โลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่พวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดานี้ของบุคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ความออกจากอาบัติเช่นไรย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้ ถึงอย่างนั้น อริยสาวกนั้นรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้น ในสำนักพระศาสดา หรือเพื่อน สพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป

    เปรียบเหมือนกุมารที่อ่อน นอนหงาย ถูกถ่านไฟด้วยมือ หรือด้วยเท้าเข้าแล้ว ก็ชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น นี้ญาณที่ ๔ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่พวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    นี่เรื่องของศีลหรือเปล่า ศีล คือความเป็นปกติทางกาย ทางวาจา ความประพฤติทางกาย ทางวาจา อยู่ด้วยกัน เห็นกัน สนทนากัน เคยสังเกตความประพฤติคือศีลบ้างไหมว่า เหมือนกันหรือเปล่า หรือว่าปกปิดความผิดไว้มากๆ แทนที่จะเปิดเผย รีบแสดงสิ่งที่ผิดว่าผิด และสำรวมต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรม เรื่องของพระวินัย ผู้ที่รู้ว่าผิด รีบแก้ รีบแสดง รีบเปิดเผย เพื่อที่จะได้เป็นบุคคลที่ถูกทันทีที่ได้แสดงแล้วว่าผิด แต่ถ้ายังไม่แก้ ยังไม่เปิดเผย ยังเก็บความผิดนั้นไว้อยู่ ก็จะเป็นความถูกไม่ได้

    ถ้าเป็นปุถุชน ผิดไปแล้ว ก็อยากจะผิดเลยไป ไม่ค่อยอยากจะแก้ หรือว่า บางท่านก็เสียดายในการปฏิบัติผิดที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว บางท่านก็หลายปี ไม่อยากจะทิ้ง เพราะว่าได้ปฏิบัติผิดไปแล้วมาก เพราะฉะนั้น ก็เสียดาย แต่ไม่ทราบว่าประโยชน์ที่ต้องการในชีวิตนั้นคืออะไร ประโยชน์จริงๆ ควรจะเป็นความเห็นถูกต้องในพระธรรมวินัย เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อการประจักษ์ เพื่อการรู้ชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการหลอกตัวเองให้สบายใจว่า ได้ปฏิบัติแล้ว ผลจะผิดจะถูกประการใด ก็ไม่พยายามที่จะพิจารณาสอบทาน เทียบเคียงให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ละผลที่ผิด หรือข้อปฏิบัติที่ผิดเสีย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำอย่างไรของเพื่อนสพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น ความเพ่งเล็งกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของ อริยสาวกนั้นก็มีอยู่

    เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน ย่อมเล็มหญ้ากินด้วย ชำเลืองดูลูกด้วย ฉะนั้น อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น นี้ญาณที่ ๕ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    เล็มหญ้ากินด้วย เป็นผู้ที่เจริญข้อปฏิบัติธรรม ชำเลืองดูลูกด้วย คือ เพ่งเล็งใน อธิศีลสิกขา ในอธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของเพื่อนสพรหมจารีว่า มีความปฏิบัติถูก มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกอย่างไร ผิดถูกอย่างไร เพื่อการเกื้อกูล

    นี่เป็นกิจใหญ่น้อยที่ควรทำของเพื่อนสพรหมจารีโดยแท้ เป็นสิ่งที่ควร หรือ ไม่ควรกระทำ สำหรับพระอริยเจ้า

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ทำให้มีประโยชน์ ทำไว้ในใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตฟังธรรม อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น นี้ญาณที่ ๖ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    เพราะฉะนั้น พละของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ถ้าผู้ใดยังไม่ถึง ก็ควรที่จะอบรมบำเพ็ญเจริญให้ถึง

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 328

    ผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ไม่มีเลยที่จะคิดว่า ส่วนหนึ่งส่วนใดของพระธรรม เล็กน้อย พระธรรมเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ทำให้มีประโยชน์ ทำไว้ในใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตฟังธรรม เพราะรู้ว่าพระธรรมทั้งหมดมีคุณค่า ควรแก่การที่จะฟัง ไตร่ตรอง น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ

    ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ฟังเพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นๆ เมื่อประกอบด้วยคุณธรรมอย่างนั้นแล้ว จะเห็นคุณค่าของพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มี-พระภาคทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่เกื้อกูล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น แม้ในพระสูตรนี้ เป็นคุณธรรมของพระอริยสาวก ที่ท่านประกอบด้วยพละอย่างไร ธรรมอันเป็นธรรมดาอย่างไร

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละอย่างใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกนั้นเมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น นี้ญาณที่ ๗ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

    พระอริยเจ้าท่านฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศแล้ว เข้าใจในอรรถ ในความหมายของพยัญชนะนั้นๆ อย่างคำว่า ขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป รู้ความหมาย อรรถของคำว่า ขันธ์ เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมขณะนี้ และประจักษ์ถึงความเกิดขั้น และดับไป จะเข้าใจซึ้งถึงอรรถ ถึงความหมายที่พระผู้- มีพระภาคประกาศ และทรงแสดงไหม ก็ต้องเข้าใจซึ้งถึงอรรถที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความหมายของพยัญชนะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของสภาพธรรมเท่านั้น แต่ว่าสามารถที่จะประจักษ์จริง ด้วยการเจริญอบรม การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง และปัญญาก็สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นอริยสาวก เมื่อฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศ แล้วเข้าใจในอรรถ เกิดความปีติปราโมทย์ ผ่องใส เพราะเหตุว่าได้รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดฟังแล้ว ไม่น้อมนำที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ก็ยังคงเป็นปุถุชนอยู่ ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นพระอริยะได้ ถ้าเห็นว่าเรื่องการเจริญสติปัฏ-ฐานเป็นเรื่องเล็กน้อย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ อย่างนี้ ตรวจดูดีแล้ว ด้วยอันทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ฉะนี้แล

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

    จบโกสัมพิยสูตร ที่ ๘

    ผู้ที่ไม่ไช่พระอริยะ ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคได้หรือไม่ได้ ชื่นชมยินดีได้ เพราะอะไร เพราะเห็นจริงว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศนั้นถูกต้องด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ชื่นชมในพระภาษิตที่เป็นสัจจะ ที่เป็นความจริง

    ซึ่งเรื่องของศีลเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะประพฤติปฏิบัติตามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ยาก แต่แม้กระนั้นก็ตาม ถ้าฟัง และเห็นคุณค่าของศีล คือ การประพฤติที่สมควร ที่เป็นสุจริตทางกาย ทางวาจาแล้ว ท่านผู้ฟังก็จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส เพื่อให้ถึงซึ่งความดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    และถ้าสติของท่านผู้ฟังจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมสักนิดสักหน่อยในขณะนี้ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ให้ทราบว่า นั่นเป็นการอบรมเจริญสติ และปัญญา เพื่อให้ถึงความคมกล้าที่สามารถจะแทงตลอด และรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกตินี่เอง


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 329


    หมายเลข 13196
    14 ต.ค. 2567