ศีล ๕ เป็นปกติ


    สติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เรื่องของศีลก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยมากท่านผู้ฟังที่อยากจะรักษาศีล ถือศีล จะเป็นเพราะท่านต้องการอานิสงส์ที่ดี หรือท่านคิดว่าในขณะที่เจริญวิปัสสนา ทำวิปัสสนา ก็จะต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัดทีเดียว ท่านไม่ทราบว่า แท้ที่จริง ศีลเป็นเรื่องปกติจริงๆ ไม่พ้นไปจากกาย วาจา ใจของท่าน

    แต่ละวันจิตใจของท่านเป็นอกุศล หรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าไร ถ้าท่านล่วงศีล กระทำทุจริตกรรม ก็เป็นเครื่องแสดงว่า กิเลสหนาแน่นมากทีเดียว ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้ทราบว่า ศีลเป็นปกติ เพราะฉะนั้น ศีล ๕ เป็นปกติด้วย

    ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๒๘๖ มีข้อความว่า

    ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์

    ๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาทรัพย์ ที่เจ้าของไม่ได้ให้

    ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    ๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ

    ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

    นี่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเครื่องวัดกิเลสว่า มีมากน้อยประการใด และได้ล่วงศีลข้อไหนบ้าง

    เช่น ข้อที่ ๑ สิกขาบทข้อที่ ๑ ศีลข้อที่ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี ท่านมีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์หรือไม่ หรือมีแต่เพียงเจตนา เวลาที่มีวัตถุ คือ สัตว์ที่เป็นอันตราย หรือสัตว์ที่ทำร้ายท่าน รบกวนท่าน ปรากฏเฉพาะหน้า กิเลสอกุศลกรรมก็มีกำลัง กล้าทำให้ล่วงศีลนั้น โดยการฆ่าสัตว์นั้นเสีย

    นี่เป็นเครื่องตรวจสอบปกติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้ที่อบรมขัดเกลา เจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถจะรักษาศีลได้โดยสมบูรณ์ ไม่ล่วงศีล ๕ เลย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการที่จะเป็นพระอริยเจ้า แต่ไม่รู้จักสภาพจิตใจของท่านตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

    ด้วยเหตุนี้ การเจริญกุศลขั้นศีล ซึ่งเป็นการขัดเกลาจิตใจของท่านให้เบาบางจากกิเลส แม้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลสอกุศล เพราะถ้าท่านไม่ทราบว่า การฆ่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ อาจจะเป็นความสนุกของท่าน ในการล่าสัตว์ ตกปลา หรือว่าทำปาณาติบาต ทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นสิ่งที่ท่านอาจจะไม่ทราบว่าเป็นโทษ เป็นภัย ซึ่งเมื่อเป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้าสำหรับท่าน

    เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะวิรัติก็ไม่มี แต่ถ้าทราบ สามารถที่จะละคลายให้เบาบาง หรือว่าวิรัติเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ก็ย่อมจะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลส และอกุศล

    สำหรับศีล ๕ นี้ เกี่ยวข้องกับอกุศลกรรมบถ ๑๐ เพราะเหตุว่า ถ้าจิตใจของท่านมีกิเลสแรงกล้า ท่านก็จะกระทำทุจริตกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐

    สำหรับอกุศลจิตมี ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

    ธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลส อกุศลจิตย่อมเกิดเป็นปกติ นานๆ กุศลจิตจึงจะเกิด ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะทราบได้ว่า ทางตา อกุศลจิตเกิดบ่อย หรือว่ากุศลจิตเกิดบ่อย ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ ไม่มีการรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นอกุศล เป็นโมหะ เป็นอวิชชา ในขณะที่ไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และมีความต้องการเป็นประจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งถ้ามีกำลังแรงกล้า ก็จะทำให้เกิดอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

    ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๓๕๙ แสดงอกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

    ๑. ปาณาติบาต การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

    ซึ่งถ้าแปลโดยตรง ปาณ หมายความถึงลมหายใจ ซึ่งสัตว์ที่จะมีลมหายใจ ต้องเป็นสัตว์ที่มีจิต เพราะเหตุว่าลมหายใจเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ความหมายก็โดยนัยเดียวกัน คือ การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป หมายความถึงการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตนั่นเอง

    ๒. อทินนาทาน การถือเอสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

    ๓. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม

    อกุศลกรรมบถ ๓ เป็นอกุศลกรรมบถที่สำเร็จเป็นไปได้ทางกาย

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 329

    อกุศลกรรมบถทางวาจา ๔ คือ

    มุสาวาท พูดเท็จ

    ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด

    ผรุสวาจา พูดคำหยาบ

    สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ คือ คำพูดที่เกินประมาณ ไร้ประโยชน์

    อกุศลกรรมบถทางใจ คือ ทางมโนทวาร ๓ ได้แก่

    อภิชฌา ความอยากได้ของผู้อื่น

    พยาปาทะ ความปองร้ายผู้อื่น ความคิดร้ายบุคคลอื่น

    มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด

    รวมทั้งหมดเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐

    สำหรับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุ

    อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ติวิธสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งการฆ่าสัตว์ว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการถือเอาทรัพย์ วัตถุที่เจ้าของมิได้ให้ว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการประพฤติผิดในกามว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดเท็จว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดส่อเสียดว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดคำหยาบว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดเพ้อเจ้อว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการอยากได้ของผู้อื่นว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งความปองร้ายผู้อื่นว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    เรากล่าวแม้ซึ่งการความเห็นผิดว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลภะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม โทสะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม โมหะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโลภะ ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ ด้วยประการดังนี้แล ฯ

    ท่านผู้ฟังดูเหมือนจะตอบเองได้ว่า อะไรเป็นเหตุของอกุศลกรรม คือ มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ ตอบได้แน่นอน และไม่ผิดด้วย แต่เวลาที่กำลังทำอกุศลกรรมในขณะนั้น ทราบไหมว่าเพราะโลภะเป็นเหตุ หรือเพราะโทสะเป็นเหตุ หรือเพราะโมหะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมทั้งหมดจะดับได้ก็เพราะความสิ้นไปแห่งโลภะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ

    สำหรับเรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ตรงตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ถ้าธรรมนั้นเป็นอกุศล จะเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นให้เป็นกุศลไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงความละเอียดของอกุศลธรรมซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นไป เพราะเหตุว่าถ้าไม่แสดงโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็จะไม่ทราบว่าอกุศลธรรมนั้นมีความละเอียดมากเพียงไร และการละก็ต้องเป็นการละโดยละเอียด จะต้องเป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทจริงๆ

    ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยวรรคที่ ๒ ข้อ ๑๙๘ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้บุคคลเห็นความละเอียดของอกุศลธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้

    ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน

    คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตปองร้าย ๑ มีความเห็นผิด ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ฯ

    จำได้ไหมว่า ทำอกุศลกรรมอะไรบ้างใน ๑๐ ประการนี้ ที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ หรือว่าถ้ากำลังกระทำอยู่ หรือจะกระทำต่อไป ก็จะต้องเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ แต่สำหรับผู้ที่ประกอบด้วยธรรมฝ่ายตรงกันข้าม คือ กุศลธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้

    ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน

    คือ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ๑ ... ฯลฯ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตไม่ปองร้าย ๑ มีความเห็นชอบ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้

    เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่วิรัติ เว้นจากการฆ่า ให้ทราบว่า จะเป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้ หรือในขณะที่ ไม่ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ ในขณะนั้นก็จะเป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์

    อกุศลจะละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จะต้องละให้หมดสิ้นไป

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๑๙๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้

    ธรรม ๒๐ ประการ เป็นไฉน

    คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ … ฯลฯ

    สำหรับข้อต่อๆ ไป ก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาจิตใจของท่านละเอียดยิ่งขึ้นว่า อกุศลธรรมในจิตใจของท่านอยู่ในประการใด คือ สำหรับในข้อปาณาติบาตนั้น ท่านเป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง หรือว่าเป็นผู้ที่ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ แม้ว่าท่านจะไม่ได้ฆ่าเอง แต่อกุศลเจตนามี จึงได้ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ นั่นก็เป็นอกุศลธรรมที่ละเอียด ซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นด้วย

    สำหรับธรรมฝ่ายตรงข้าม คือ ที่เป็นฝ่ายกุศลธรรม ๒๐ ก็เป็น ผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้

    ข้อ ๒๐๐ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้

    ธรรม ๓๐ ประการ เป็นไฉน

    คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ ... ฯลฯ

    ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และไม่ได้ชักชวนบุคคลอื่นให้ฆ่า แต่ว่ามีความพอใจในการฆ่าสัตว์นั้นหรือไม่ นี่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเกิดพอใจในการฆ่าสัตว์ แม้จะไม่ได้ฆ่า แต่มีความพอใจในการฆ่า ก็เป็นอกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น การดับกิเลสเป็นเรื่องยากหรือเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่จะดับสิ้นไปได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นเรื่องที่ต้องขัดเกลาละคลาย บรรเทา อบรม จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งในสภาพธรรม แม้อกุศลธรรมที่เป็นความพอใจในการฆ่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น สติก็จะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล และเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ต้องรู้ทั่วจริงๆ จึงสามารถที่จะดับกิเลส หรืออกุศลอย่างละเอียดได้

    ข้อ ๒๐๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้

    ธรรม ๔๐ ประการ เป็นไฉน

    คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ๑ ... ฯลฯ

    กล่าวสรรเสริญก็ผิด เป็นอกุศลธรรม ท่านเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ถ้าเป็นสติ ก็จะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงสามารถที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ดับกิเลส ไม่ยึดถือสภาพนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ

    สำหรับธรรมฝ่ายตรงกันข้าม ๔๐ ทางฝ่ายกุศลธรรม ก็โดยนัยเดียวกัน

    ข้อ ๒๐๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐, ๒๐, ๓๐, ๔๐ ประการฝ่ายอกุศล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย

    บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐, ๒๐, ๓๐, ๔๐ ประการ ฝ่ายกุศล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย

    นี่เป็นจิตของท่านเอง เคยสรรเสริญในการฆ่าสัตว์บ้างไหม หรือว่าเคยพอใจในการฆ่าสัตว์บ้างไหม เคยสรรเสริญในการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้บ้างไหม หรือว่าบุคคลใดที่ประพฤติผิดในกาม ท่านสรรเสริญ หรือท่านพอใจในการประพฤติผิดในกามเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า หรือว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดพูดเท็จ หรือว่าชักชวนให้บุคคลอื่นพูดเท็จ ท่านมีความพอใจ หรือสรรเสริญที่บุคคลนั้นพูดเท็จด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดหรือเปล่า ในขณะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เคยพิจารณาตัวท่านเองอย่างละเอียดบ้างไหม ในเรื่องของอกุศลธรรมทั้ง ๔๐ และกุศลธรรมทั้ง ๔๐


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 330


    หมายเลข 13198
    13 ต.ค. 2567