คำปรารภของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง


    มีจดหมายที่เป็นคำแนะนำของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๒๔๓/๑ ซอยรามบุตรี ถนนจักรพงศ์ กรุงเทพมหานคร

    วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่นับถือ

    ผมได้ฟังคำบรรยาย ซึ่งนำเทปไปออกอากาศมาประมาณ ๑ เดือนเศษ พบว่าการบรรยายอภิธัมมัตถสังคหะ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ปรากฏออกมาเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ผมได้รวบรวมเสียงติจากกลุ่มอาจารย์อภิธัมมัตถสังคหะ และขออนุญาตปรารภมาอีกครั้งหนึ่ง

    ๑. คำว่า รู้แจ้งแทงตลอด มีผู้ปรารภว่า ใช้กับพระอรหันต์เท่านั้น ผมเห็นว่าน่าจะมีการกำจัดการใช้บ้างตามสมควร

    ๒. สีเป็นรูปที่จิตรู้ได้ทางตา ... ตาสัมผัสสีในปัจจุบันธรรม นั่นรู้สึกว่าเป็นเรื่องพูดง่าย ปฏิบัติยากมากที่สุด ในทางปฏิบัติจริง อภิสังขารมารมาหลอกเอาบ่อยๆ ผมเห็นว่าต้องดูเทวบุตรมาร และอภิสังขารมารควบคู่ไปด้วย ผมไม่อยากให้เขามาหลอก

    ๓. การแสดงตนสูงกว่า เสมอ และต่ำกว่าของท่านผู้ถาม การใช้เดรัจฉานกถาของผู้ถาม ถ้ามี ผมเห็นว่า น่าจะมีอุบายอันแยบคายทำให้ลดลงไปได้ก็คงจะทำให้ดีขึ้นในหลายๆ อย่าง มีผู้ปรารภมากว่า ชอบมาถามกันมาก ยิ่งเปิดช่องว่างต่างๆ เขาก็ถาม แต่ถ้ามีบุญ เขาก็ไม่มาถามมาก

    ๔. ในเรื่องสถานปฏิบัติ มีคำอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเคยตรัสให้อริยสาวกซ่องเสพเสนาสนะอันสงัดไว้แล้ว เช่น เล่ม ๔๖ หน้า ๒๓๕, เล่ม ๑๔ หน้า ๑๖๐ เคยได้รับคำปรารภจากพระผู้ใหญ่ และท่านอาจารย์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน คือ ถือคติกันว่า จะไม่พูดขัดแย้งคำตรัส ถือกันว่าการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการเจริญรอยตามพระอริยเจ้า เมื่อนักปฏิบัติหาที่ปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้างตามที่ตรัสแสดงไว้ ก็อาจอนุโลมหาที่ ที่เหมาะสมอันเป็นที่สมควรมาเป็นที่ปฏิบัติได้ ก็คงจะถือสาคำว่า “ ไม่จำเป็น สถานที่ปฏิบัติไม่จำเป็น ” ข้อขัดแย้งอันนี้ ผมเห็นว่าไม่สู้ดีนัก ผมเห็นว่าใช้คำว่า อนุโลมหาที่ปฏิบัติที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลดีกว่า ท่านธรรมเสนาบดีทั้งสอง ท่านก็ได้ปรารภไว้ (เล่ม ๔๑ ทั้งสองท่าน)

    ๕. กุฏเล็กๆ ที่สร้างจำลองขึ้นมา ก็คงได้การปฏิบัติจำลอง ผมเห็นว่า ช่างเขาเถอะ พูดก็จะเป็นเบียดเบียนเขา นักกัมมัฏฐานชนิดชอบจำลอง ก็ขอยุติครับ

    ขอได้รับความนับถือ

    ป.ล. ถ้าจะกรุณามีการปรับปรุงบ้างก็อาจจะดี บางท่านปรารภว่า พูดอะไรไม่ได้ ผมก็ไม่เชื่อเขา จึงลองเขียนมา

    สุ. ท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรบ้างไหมในจดหมายฉบับนี้ ไม่ทราบว่า ข้อ. ๕ กับข้อ. ๔ ของท่าน ค้านกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เรื่องสถานที่ ผมเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ผมค้านจริงๆ เรื่องที่ว่าจะไปหาสถานที่ ที่โน่น ที่นี่ อะไรต่างๆ ผมเคยขนาดขึ้นไปอยู่บนภูเขา ขนาดพระสมภารเวลากลางวันยังไม่กล้าขึ้นไป มันเงียบจริงๆ แต่เวลาไปอยู่จริงๆ นึกถึงทางบ้านบ้าง นึกถึงแฟนว่า เขาจะไปมีแฟนใหม่หรือยัง อะไรก็ไม่รู้ สารพัดที่จะคิด วิเวกนี้ไม่จำเป็น เราอยู่เดี๋ยวนี้ เราก็วิเวกได้ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องเข้าใจ แต่เป็นความจริงเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    อย่างข้างบ้านผม โรงงานอึกทึกครึกโครมนานๆ รำคาญหนักๆ ทำใจเฉยๆ เป็นเรื่องของเสียง ก็อยู่สบาย ไม่เดือดร้อนอะไร พูดถึงเรื่องสถานที่ เดี๋ยวนี้จะไปหาที่วิปัสสนา ต้องเตรียมทุนกันมากมาย อย่างเมื่ออาทิตย์ก่อน ผมฟังเทศน์ทางวิทยุว่า ต้องเตรียมเงินเตรียมทองวันละ ๑๒ – ๑๓ บาท เป็นค่าอาหาร ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยบางทีมาอยู่ได้ ๒-๓ วัน ก็ต้องกลับไปแล้ว มันเป็นเวรเป็นกรรม ผมไม่เห็นตรงกับคำในพระไตรปิฎก อย่างในพระไตรปิฎก แม้คนขอทานไม่มีข้าวจะกิน ยังสำเร็จเป็น พระโสดาบันได้ ผมว่ามันขัดกันหมด ไม่เกี่ยวกันเลยกับสถานที่

    สุ. ข้อความในพระธรรมตอนหนึ่งมีว่า ถึงแม้ว่าจะอยู่ในป่า แต่ว่าใจนั้นเกี่ยวข้องผูกพันคลุกคลีอยู่กับครอบครัว หรือว่าวงศาคณาญาติ หรือว่าเรื่องโลก ท่านกล่าวว่า ผู้นั้นไม่ได้อยู่ป่า เพราะว่าถึงจะอยู่ป่าก็เหมือนอยู่บ้าน ไม่ได้ต่างกันเลย คือ สภาพลักษณะของจิตใจในขณะนั้นไม่ได้ต่างกันกับอยู่บ้าน จะอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อยังมีความเกี่ยวข้อง ความผูกพันในวัตถุ ในบุคคล ถึงแม้ว่าจะเป็นการนั่งอยู่ในป่า ผู้นั้นก็หาชื่อว่าอยู่ป่าไม่ เพราะว่าจิตใจเหมือนกัน ไม่ได้ต่างกันเลย

    สำหรับเรื่องของสถานที่ ก็ได้กล่าวถึงมามาก จนคิดว่าเกือบจะไม่มีความจำเป็นอีกแล้วที่จะได้กล่าวถึง เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    สำหรับคำปรารภของท่านที่ว่า ถ้าจะมีความกรุณาปรับปรุงบ้างก็อาจจะดี บางท่านปรารภว่า พูดอะไรไม่ได้ ผมก็ไม่เชื่อเขา จึงลองเขียนมา แต่ว่าท่านผู้ฟังท่านนี้ได้เขียนจดหมายมาฉบับหนึ่งก่อนจดหมายนี้ คือ ท่านเขียนมาเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อความตอนหนึ่งมีว่า ในการปฏิบัติธรรม ผมปฏิบัติตามแนวพระโอวาทปาติโมกข์ ๓ คาถากึ่ง และปฏิบัติเพื่อวิราคธรรม รู้สึกว่าตัดปัญหาอื่นๆ ไปได้มาก สำหรับพระโอวาทปาติโมกข์ ท่านผู้ฟังก็คงจะทราบว่า คาถาแรก คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 566

    ผู้ฟัง จดหมายที่อาจารย์อ่านก็มีข้อที่น่าคิด ผู้เขียนนี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติตาม พระปาติโมกข์ใช่ไหม ผมก็บวชมานาน เรียนมามาก แต่ก็ไม่มากพอที่จะเอาตัวรอด ถือตัวว่ามีความรู้มาก ถือตัวมานาน ถ้าตายระหว่างนั้นเห็นจะไม่พ้นนรกหรอก แต่ก่อนคิดว่า อย่างจิตเป็นต้น ถือว่าไม่ตายหรอก พอจุติจากนี่ก็ไปเกิดใหม่ ตอนหลังมาฟังอาจารย์ จึงรู้ว่า จิตเกิดดับๆ รูปนามก็เกิดดับ

    ท่านผู้เขียนกล่าวว่า ท่านทำตามในปาติโมกข์ สำรวมในปาติโมกข์ ท่านเป็นฆราวาสใช่ไหม ความจริงโอวาทปาติโมกข์ พระผู้มีพระภาคท่านสอนกับพระเท่านั้น แต่ว่าอะไรที่สอนกับพระ ฆราวาสจะฟัง และปฏิตามก็ไม่ขัดข้อง ผมรู้บาลีก็อยากจะว่าให้ฟัง โอวาทปาติโมกข์มีอย่างนี้

    สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่ว

    กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญความดี

    สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

    อนูปาฆาโต อนูปวาโท ปาติโมกฺเข จ สํวโร การไม่ว่ากล่าว หรือไม่เข้าไปว่า หรือการสำรวมในปาติโมกข์

    แสดงให้เห็นว่า ท่านสอนพระ ไม่ได้สอนฆราวาส แต่เราจะเอามาปฏิบัติ ก็ไม่ขัดข้อง ตอนหลังมีต่อไปว่า

    ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ความอดทนเป็นตบะอันสูงยิ่ง

    มตฺตญญุตา จ ภตฺตสฺมึ การรู้จักพอดีในอาหารที่รับประทาน

    ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อยู่ในที่สงัด นั่งหรือนอนในที่สงัด

    อธิจิตฺเต จ อาโยโค แปลว่า ประกอบจิตในอธิจิต คือ อธิศีลสิกขา

    เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ซึ่งความจริงท่านสอนกับพระจึงเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์

    สุ. ขอบคุณ ต้องขอให้ท่านผู้ฟังซึ่งจะศึกษา และปฏิบัติตามในโอวาท- ปาติโมกข์ได้เข้าใจให้ชัดเจนว่า จุดประสงค์นั้น คือ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม และจะต้องละคลายขัดเกลากิเลส ซึ่งจะต้องอาศัยความอดทน และธรรมอย่างอื่นประกอบด้วย อดทนที่จะให้คนอื่นเขาเข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ ท่านนที่เข้าใจถูกต้องแล้ว ก็ไม่ควรจะเกิดความรำคาญใจ แต่ควรจะมีความอดทน เห็นใจ เข้าใจ และช่วยให้บุคคลอื่นได้เข้าใจธรรมที่ถูกต้องยิ่งขึ้น อดทนที่ได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกบ่อยๆ เพื่อที่จะอุปการะเกื้อกูลให้คนอื่นได้พิจารณา และได้เข้าใจเหตุผลของธรรม


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 567


    หมายเลข 13204
    17 ต.ค. 2567