พระทัพพมัลลบุตร เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้จัดเสนาสนะ


    อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถาปายาสิราชัญญสูตร และ อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถาวัมมิกสูตร กล่าวถึงพระภิกษุ ๕ รูปที่เจริญสมณธรรมบนภูเขา ซึ่งพระภิกษุ ๒ รูป รูปหนึ่งคือพระสังฆเถระได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกรูปหนึ่งคือพระอนุเถระได้บรรลุพระอนาคามี และเกิดใน สุทธาวาสพรหม พระภิกษุอีก ๓ รูปในชาตินั้น ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เกิดเป็นพระเจ้าปุกกุสาติ ท่านพระพาหิยทารุจีริยะ และท่านพระกุมารกัสสปะ และที่เป็นเอตทัคคะมี ๒ รูป คือ ท่านพระพาหิยะกับท่านพระกุมารกัสสปะ

    ส่วนใน อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อรรถกถาสภิยเถรคาถาที่ ๓ และ อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถรคาถา และ อรรถกถาธรรมบทเรื่องพระพาหิยทารุจีริยะ กล่าวถึงภิกษุ ๗ รูปที่ เจริญสมณธรรมด้วยกันบนภูเขา ซึ่งนอกจากพระสังฆเถระ และพระอนุเถระ พระเจ้าปุกกุสาติ ท่านพระพาหิยทารุจีริยะ และท่านพระกุมารกัสสปะแล้ว ยังมีอีก ๒ รูป คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตร และท่านพระสภิยะ

    สำหรับพระภิกษุ ๗ รูปนั้น เป็นเอตทัคคะ ๓ รูป คือ ท่านพระพาหิยะ ท่านพระกุมารกัสสปะ และท่านพระทัพพมัลลบุตร

    ขอกล่าวถึงพระภิกษุอีก ๒ รูป คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตร และท่านพระสภิยะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ต่างกันของสหายที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมด้วยกันบนภูเขา แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านก็ต่างกันไป

    อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถรคาถา ข้อ ๑๔๒ มีข้อความว่า

    พระภิกษุรูปหนึ่งในพระภิกษุ ๗ รูปนั้น ปฏิสนธิในเรือนของเจ้ามัลละองค์หนึ่งในอนุปิยนคร แคว้นมัลละ มารดาของท่านสิ้นชีวิตเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์ เมื่อ คนทั้งหลายนำร่างมารดาของท่านไปป่าช้า ยกขึ้นสู่เชิงตะกอนใส่ไฟแล้ว เพราะกำลังความร้อนของไฟ ทำให้พื้นท้องของร่างมารดาของท่านแยกออกเป็น ๒ ส่วน ทารกลอยขึ้น และตกลงมาที่เสาไม้มีแก่น ท่านจึงได้ชื่อว่าทัพพะ เพราะตกไปที่เสาไม้ มีแก่น จึงรอดชีวิต

    ซึ่งท่านจะเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้จัดเสนาสนะ และเป็นพระภัตตุเทศก์ คือ ผู้แจกภัตตาหาร

    ก็ในวันที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรมีอายุได้ ๗ ขวบ พระผู้มีพระภาคมีพระภิกษุเป็นบริวาร เสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ ประทับอยู่ในอนุปิยัมพวัน ทัพพมัลลบุตรเห็นพระผู้มีพระภาคก็เลื่อมใส และประสงค์จะบวช

    อายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้นเอง

    พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้พระเถระรูปหนึ่งให้บรรพชาให้ ขณะที่ท่านปลงผม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และเมื่อปลงผมเสร็จ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับในแคว้นมัลละแล้ว ก็เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้เสร็จกิจในการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทแล้ว ประสงค์จะอุทิศชีวิตเพื่อช่วยกระทำกิจของสงฆ์ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงประทานสาธุการ และทรงมอบกิจปูลาดเสนาสนะ และกิจภัตตุเทศก์แก่ท่าน

    ถ้าเป็นคนมีกิเลสก็จะเห็นว่า กิจนี้ไม่น่าสนุกเลย จัดที่นอน และแจกอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากที่ไกล และที่ใกล้ ดูเป็นภาระ แต่สำหรับผู้ที่หมดภาระคือการ ที่จะต้องดับกิเลส และมีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ ต่อไป ก็ใคร่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา จึงขวนขวายที่จะกระทำกิจเพื่อช่วยเหลือกิจของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ท่านก็ทูลขอ ที่จะได้กระทำกิจของสงฆ์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงมอบกิจปูลาดเสนาสนะ และกิจ ภัตตุเทศก์แก่ท่าน

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า สามเณรนี้ยังเล็กแท้ แต่ดำรงอยู่ในสภาวะใหญ่ (คือ เป็นพระอรหันต์) ดังนี้แล้ว จึงโปรดให้ท่านอุปสมบทในเวลาที่มี อายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น

    แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นเอหิภิกขุ แต่ท่านก็ได้เป็นหนึ่งในอสีติมหาสาวก คือ ในมหาสาวก ๘๐ รูป และได้เป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกผู้จัดเสนาสนะ

    การจัดที่หลับที่นอน ที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องยากไหม เป็นเรื่องสำคัญไหม เพราะว่าบางคนก็นอนยาก ไม่ค่อยจะได้ที่สบายที่เป็นสัปปายะของการนอน บางคนก็ชอบร้อน บางคนก็ชอบเย็น บางคนก็ชอบเปิดหน้าต่าง บางคนก็ชอบปิดหน้าต่าง บางคนก็ชอบอยู่ใกล้ทางประตู บางคนก็ไม่ชอบอยู่ใกล้ทางประตู อาหารสัปปายะ ก็เป็นที่ลำบากว่า ใครจะชอบรสไหนอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญสมณธรรมได้สะดวกสบาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นเอตทัคคะในการจัดเสนาสนะ และในการ แจกภัตตาหาร ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะกระทำได้อย่างดี ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น ได้ว่า บางคนอาจจะไม่ลำบากในเรื่องที่นอน แต่ลำบากในเรื่องอาหาร บางคน ไม่ลำบากในเรื่องอาหาร เป็นผู้ที่บริโภคง่าย รับประทานง่าย แต่เป็นผู้ที่ลำบาก ในเรื่องการนอน

    นี่ก็เป็นชีวิตจริงในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทุกชาติก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1917


    หมายเลข 13223
    25 ต.ค. 2567