ท่านสภิยเถระ


    สำหรับอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านสภิยเถระ

    อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต สภิยเถรคาถาที่ ๓ มีข้อความว่า

    ท่านพระสภิยะท่านเกิดในครรภ์ของนางปริพาชิกาท่านหนึ่งซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ ได้ยินว่า นางปริพาชิกานั้นเป็นธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง มารดาบิดานั้นได้มอบธิดานั้นให้แก่ปริพาชกคนหนึ่ง เพื่อให้ศึกษาลัทธิของปริพาชก

    มีความเลื่อมใสมากในปริพาชก จนกระทั่งมอบธิดาให้แก่ปริพาชก เพื่อให้ศึกษาลัทธิของปริพาชก

    ปริพาชกคนหนึ่งปฏิบัติผิดกับนาง นางจึงตั้งครรภ์ เมื่อปริพาชกนั้นเห็น นางมีครรภ์ก็ได้หนีไป ส่วนนางก็ได้ออกจากสำนักนั้นไปที่อื่น และได้คลอดบุตรในสภา ในระหว่างทาง และได้ตั้งชื่อบุตรว่าสภิยะ

    เมื่อสภิยะเติบโตขึ้น ได้บวชเป็นปริพาชก เรียนศาสตร์ต่างๆ เป็นมหาวาที เที่ยวขวนขวายในวาทะ ไม่เห็นบุคคลผู้เสมือนกับตน จึงได้สร้างอาศรมใกล้ประตู พระนคร ให้ขัตติยกุมารเป็นต้นศึกษาศิลปะอยู่ ถือเอาปัญหา ๒๐ ข้อ ถาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นๆ

    ปัญหา ๒๐ ข้อนี้ ข้อความในอรรถกถากล่าวว่า

    สหายในอดีตซึ่งเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้แต่งปัญหาเหล่านั้น ให้ท่าน ถามปัญหานั้นกับสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

    จะเห็นได้ว่า ท่านที่ได้สะสมความเห็นถูกมาเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ว่าจะได้คบหากับผู้ที่มีความเห็นผิด เช่น พวกปริพาชก แต่กุศลในอดีตก็เป็นปัจจัยทำให้ท่านกลับมาเห็นถูกได้ แม้ว่าจะมีการคบหากับผู้ที่มีความเห็นผิดก็ตาม

    สภิยปริพาชกได้ไปเฝ้าพระศาสดา ณ พระวิหารเวฬุวัน และทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นแล้ว ท่านทูลขออุปสมบท บรรลุพระอรหันต์

    เมื่อท่านพระเทวทัตพยายามเพื่อทำลายสงฆ์นั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นฝักฝ่ายแห่งท่านพระเทวทัต ท่านพระสภิยะจึงกล่าวธรรม ๔ คาถาเหล่านี้ว่า

    พวกอื่นเว้นบัณฑิตย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราที่ทะเลาะวิวาทกันนี้ จะพากัน ย่อยยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ พวกใดมารู้ชัดในท่ามกลางสงฆ์นั้นว่า พวกเราพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไปได้จากสำนักของพวกนั้น เมื่อใดเขา ไม่รู้ธรรมอันเป็นอุบายระงับการทะเลาะวิวาทตามความเป็นจริง ประพฤติอยู่ ดุจไม่แก่ ไม่ตาย เมื่อนั้นความทะเลาะวิวาทก็ไม่สงบลงได้

    ถ้าชนเหล่าใดมารู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง เมื่อสัตว์ทั้งหลายพากันเร่าร้อนอยู่ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เร่าร้อน ความทะเลาะวิวาทของพวกเขา ย่อมระงับไปได้ โดยส่วนเดียว

    การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน วัตรอันเศร้าหมอง และพรหมจรรย์ อันบุคคลพึงระลึกด้วยความสงสัย กรรม ๓ อย่างนั้นย่อมไม่มีผลมาก

    ผู้ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

    จบ สภิยเถรคาถา

    คำที่น่าฟังซึ่งทุกคนได้ยิน และเปรียบอยู่เสมอ คือ ฟ้ากับดิน ไม่ว่าอะไร ก็ตามที่ห่างกันมาก จะใช้คำอุปมาที่แสดงให้เห็นถึงความต่างกัน คือ ฟ้ากับดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่ากุศล และปัญญาจะเจริญได้ จะต้องพิจารณาแม้ความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์ เพราะในขณะที่ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต และแม้เพียงขณะที่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ขณะนั้นก็เป็น กุศลจิต

    เคยมีใครคิดบ้างไหมว่า ท่านห่างไกลเหมือนฟ้ากับดิน ในขณะที่ขาด ความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ แม้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่เจริญ ของกุศล เพราะเมื่อไม่เคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ก็คือขณะนั้นไม่กระทำเพื่อละคลายกิเลส เพียงเล็กน้อยนิดเดียว แต่ให้เห็นถึงกำลังของกิเลสที่ทำให้ไม่มีความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์

    ขณะใดที่เกิดสติระลึกได้ จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ได้ทำการละคลายหรือขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แม้ในขณะที่อกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้น

    และข้อความที่ว่า ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ก็เตือนให้ท่านพิจารณาตนเองว่า ท่านเป็นผู้ที่ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินหรือเปล่า หรือ ไม่ห่างไกลถึงแค่นั้น อาจจะใกล้กว่านั้น

    ที่กล่าวว่า ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ก็เพราะการรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และความดีเพียงความนอบน้อม ความเคารพใน เพื่อนพรหมจรรย์เท่านั้นยังทำไม่ได้ สิ่งที่ยากกว่านั้น คือ การประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะเป็นไปได้อย่างไร

    ใครก็ตามที่มีอกุศล และไม่เห็นโทษของอกุศลนั้นแม้เพียงเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ความดีที่จะทำเพื่อละอกุศลในขณะนั้นยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมก็ต้องยากยิ่งกว่านั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะรีบทำความดีไหม จะรีบละอกุศลในขณะนั้นที่กำลังเกิดไหม

    ข้อความในอรรถกถาที่ว่า ฟ้ากับดิน ฟ้า คือ อากาศ ไกลจากดินโดยสภาวะความเป็นจริงแห่งธาตุ คือ ไม่มีสภาวะเจือกันแม้ในบางคราว

    นี่คือความหมายของคำว่า ฟ้ากับดิน ที่ห่างไกลกัน

    ท่านผู้ฟังได้ฟังชีวิตของพระสาวกต่างๆ และการอบรมเจริญปัญญาของท่าน ตั้งแต่ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ ท่านผู้ฟังอยากจะมีชีวิตแบบไหน เป็นสิ่งที่น่าพิจารณามาก เพราะว่าชีวิตทุกชีวิตแสนสั้น ไม่นานเลย แต่ละภพ แต่ละชาติ ทุกคนมีเวลาไม่มากในชาตินี้ คงจะไม่เกิน ๑๐๐ ปีสำหรับท่านที่จะมีอายุยืนยาว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระชนม์อยู่เพียง ๘๐ พรรษา แม้ว่าในสมัยของพระองค์อายุกัปจะเป็น ๑๐๐ ปีก็ตาม

    การที่จะให้ชีวิตที่เกิดมาชั่วคราว และตายไปดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร ก็ต้องแล้วว่าชีวิตของแต่ละท่านที่จะดำเนินไป ดำเนินไปด้วยกำลังของอวิชชา หรือด้วยกำลังของปัญญา


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1917


    หมายเลข 13224
    25 ต.ค. 2567