ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว


    ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถา อัฏฐกวรรค คุหัฏฐกสุตตนิทเทส ที่ ๒ แสดงลักษณะของปัญญาซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชาว่า

    ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว

    รู้ทั่วอะไร รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลายโดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น

    แค่นี้ท่านผู้ฟังก็พอจะพิจารณาได้ว่า ท่านพิจารณาข้อความนี้จนกระทั่งเข้าใจชัดเจนขึ้นหรือยัง

    ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว

    ไม่ใช่รู้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าใจว่ารู้แล้ว หรือว่าเพียงได้ยิน คำหนึ่งคำใดในพระไตรปิฎกก็คิดว่าเข้าใจแล้ว โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริงๆ ว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร แม้แต่คำว่าปัญญาที่ว่ารู้ทั่ว ก็ยังมีคำอธิบายว่า รู้ทั่วอะไร คือ รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลาย โดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น

    ทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ ไม่ใช่ทุกข์ปัญหาชีวิต ไม่ใช่ทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ใช่ทุกข์ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา เป็นต้น แต่เป็นทุกข์ที่รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เที่ยง เห็นชั่วขณะแล้วก็ดับ ได้ยินชั่วขณะแล้วก็ดับ คิดนึกชั่วขณะแล้วก็ดับ สุขชั่วขณะแล้วก็ดับ ทุกข์ชั่วขณะแล้วก็ดับ จึงรู้ว่า นี้ทุกข์ คือ สิ่งที่เกิดแล้วดับนั่นเองเป็นทุกข์

    ปัญญานั้น ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่า เป็นใหญ่ เพราะครอบงำอวิชชา เสียได้

    แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ถูกครอบงำด้วยอวิชชามากมาย สักแค่ไหนในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ ตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะว่าครอบงำอวิชชาได้ในขณะที่ปัญญาเกิด

    ก็ปัญญานั้นมีความสว่างเป็นลักษณะ และมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะ เหมือนอย่างว่า ในเรือนมีฝา ๔ ด้าน เวลากลางคืน เมื่อจุดประทีป ความมืดย่อมหายไป ความสว่างย่อมปรากฏ ฉันใด ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น

    กำลังฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม กำลังฟังเรื่องเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ในขณะที่กำลังเห็น สว่างหรือยัง เป็นความสว่าง หรือว่ายังเป็นความมืดอยู่ เพราะฟังแล้วก็เริ่มจะเข้าใจว่า มีสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ และสภาพนี้ก็เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์ ขณะนั้นจะชื่อว่าสว่างยังไม่ได้ เพราะว่าเพียงเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจ แต่สว่าง คือ สามารถประจักษ์ในขณะที่ธาตุรู้ปรากฏทางมโนทวาร ซึ่งไม่มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเข้าไปเจือปนในลักษณะอาการของธาตุรู้นั้นเลย นั่นจึงจะเป็นความสว่างที่ว่า ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น

    ข้อความต่อไป มีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่า

    ก็เมื่อผู้มีปัญญานั่งโดยบัลลังก์เดียว หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่าง เป็นอันเดียวกัน

    บางท่านที่ไม่เข้าใจเรื่องความรู้ ก็เข้าใจว่าปัญญามีลักษณะเหมือนรูป ที่ส่องสว่าง แต่ตามความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นแสงสว่างต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ปัญญาเป็นความสว่างที่เป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นความรู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยประจักษ์แจ้ง เพียงแต่เคยฟัง เคยเข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญญาสามารถเจริญขึ้นจนกระทั่งเปรียบเหมือนความสว่าง หรือมีความสว่างเป็นลักษณะ แม้ว่าจะนั่งอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน หมายความว่า ปัญญาแทงตลอดหมดในลักษณะของนามธรรมเมื่อนามธรรมปรากฏ

    นามธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หรือนามธรรมในสวรรค์ หรือนามธรรมของ รูปพรหมบุคคล หรือแม้นามธรรมของอรูปพรหมบุคคล ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลกธาตุกี่โลกธาตุ ถึงหมื่นโลกธาตุใน แสนโกฏิจักรวาล ลักษณะของนามธรรมก็เป็นนามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่าง เป็นอันเดียวกัน คือ ปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นสภาพธรรมอย่างนั้น

    บุรุษถือประทีปน้ำมันเข้าไปในเรือนที่มืด ประทีปย่อมกำจัดความมืดให้เกิด แสงสว่าง ทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏได้ ฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชา ให้เกิดแสงสว่างคือวิชชา ส่องแสงแห่งญาณ ทำอริยสัจ ๔ ให้ปรากฏได้ ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะอย่างนี้ทีเดียวแล

    ทุกท่านที่กำลังฟังพระธรรมในขณะนี้ กำลังอบรมปัญญาบารมี พร้อมด้วย วิริยบารมี และขันติบารมี เพื่อที่วันหนึ่งปัญญาที่เป็นความสว่างที่รู้แจ้งสภาพธรรม จะปรากฏ จะเกิดขึ้นได้

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1867

    อีกอย่างหนึ่ง เหมือนแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้โภชนะเป็นต้นที่เป็นสัปปายะ และไม่เป็นสัปปายะของผู้ป่วยไข้ทั้งหลาย ฉันใด

    นี่เห็นปัญญาในชีวิตประจำวันที่จะต้องอบรมจนกระทั่งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

    ปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล และอกุศล ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ ที่เลว และประณีต ที่ดำ และขาว และมีส่วนเปรียบ สมจริงดังคำที่ท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า เพราะอรรถว่า ย่อมรู้ทั่ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญารู้ทั่วอะไร รู้ทั่วว่า นี้ทุกข์ ดังนี้

    อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดตามภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ ดุจการแทงตลอดของลูกธนูของผู้ฉลาด มีความสว่าง ในอารมณ์เป็นรส ดุจประทีป มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือ อาการปรากฏ) ดุจคนชำนาญป่าไปป่า ฉะนั้น

    นี่คือลักษณะของปัญญาที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตรงตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด วันหนึ่งๆ ผ่านไปโดยไม่รู้เลยว่า อกุศลจิตชนิดใดเกิด เป็นโลภะระดับไหน เป็นไปในทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะว่าทางตาเวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดี แต่ทางใจก็ยังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ของสิ่งนั้น และก็เกิดความยินดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า ในวันหนึ่งๆ ที่อกุศลธรรมเกิด และสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถแยกเห็นชัดจนกระทั่งว่า นี้เป็นความยินดีพอใจทางตา นี้เป็นความยินดีพอใจทางใจ หรือนี้เป็นความยินดีพอใจทางหู นี้เป็นความยินดีพอใจทางใจ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปโดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล และอกุศล ไม่ต้องถามใครเลยว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะขณะนั้นปัญญาสามารถ รู้ได้ และรู้ว่า เป็นธรรมที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ ถ้าเป็นอกุศล ปัญญารู้ เห็นโทษด้วย และรู้ด้วยว่า ไม่ควรจะให้ธรรมนั้นเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ปัญญารู้ชัด และเห็นโทษ เวลาที่กุศลจิตเกิด ปัญญาก็รู้ชัด และเห็นประโยชน์

    รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เลว และประณีต ที่ดำ และขาว และมีส่วนเปรียบ สามารถเปรียบความละเอียดขึ้นของจิตใจได้ อย่างท่านที่บอกว่า เหมือนเป็นอุบาย ที่ว่า ความจริงใจในการเป็นกุศลยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว แต่ท่านรู้ว่า ถ้าท่านมีวิริยะที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศล ก็จะเป็นการทำให้กุศลสมบูรณ์ขึ้นในภายหลังได้ ซึ่งขณะนั้น ถ้าสติเกิดพร้อมด้วยปัญญาก็สามารถรู้ความต่างกันที่เปรียบเทียบได้ว่า ก่อนที่จะ เป็นกุศลจิตที่สมบูรณ์จริงๆ กับขณะที่กำลังพยายามที่จะเป็นกุศลแม้ว่าจะมี อกุศลเกิดคั่น แต่ความพยายาม และกุศลก็เริ่มมีกำลังที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ลักษณะของความเจริญของกุศลนั้นต่างกัน แสดงให้เห็นได้ว่า ปัญญาสามารถรู้ได้ ในธรรม ที่เลว และประณีต ที่ดำ และขาว และมีส่วนเปรียบ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1868


    หมายเลข 13226
    29 ต.ค. 2567