ความเพียรที่เป็นบารมี เกิดร่วมกับปัญญา


    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เวลาว่างท่านคิดที่จะทำสมาธิ เคยคิดอย่างนี้ไหม

    ถ้ามีความเข้าใจเรื่องของปัญญาบารมี คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นจะรู้ว่า ไม่ว่างเลย

    มีใครว่างบ้าง

    ท่านที่คิดว่า ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็จะทำสมาธิเพราะว่ากำลังว่างอยู่ แต่ความจริงแล้วถ้าเข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่างเลยสักขณะเดียว

    กำลังเห็น ว่างหรือเปล่า กำลังได้ยิน ว่างหรือเปล่า ในขณะนั้นท่านอาจจะเข้าใจว่า ท่านไม่ได้ทำกิจธุรการงาน ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่ถ้าระลึกได้ว่า ไม่ว่าง เพราะกำลังเห็นจะว่างอย่างไร กำลังได้ยินจะว่างอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ว่าง ปัญญาก็ควรพิจารณาเข้าใจลักษณะของเห็นว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แทนที่จะทำสมาธิ เพราะการทำสมาธิไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ทุกท่านคงเคยทำสมาธิ หรือเคยบรรลุถึงขั้นฌานจิตมาแล้วในชาติก่อนๆ ก็ได้ แต่เมื่อไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถึงแม้ว่าชาติก่อนจะได้สมาธิถึงขั้นฌาน แต่เมื่อไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ชาตินี้ก็เหมือนชาติก่อน ถ้าคิดที่จะทำสมาธิหรือคิดที่จะให้ฌานจิตเกิด โดยไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกชาติ ก็ย่อมเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะเพียรเพื่อให้เกิดสมาธิ ก็ควรเพียรเข้าใจลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นปกติ ถ้าทำสมาธิ ต้องใช้ความเพียรเพื่อทำให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว เพื่อให้ตั้งมั่นที่อารมณ์นั้น ต้องอาศัยความเพียรสมาธิจึงจะเกิด แต่ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน และมีความเข้าใจถูกว่า ควรที่จะอบรม เจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็น ขณะนั้นก็เพียร แต่ไม่ใช่เพียร ให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์เดียว แต่เพียรโดยพยายามที่จะพิจารณา หรือเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    จะเห็นได้ว่า แม้วิริยะ ความเพียรที่เป็นบารมี ก็ต้องเกิดร่วมกับปัญญา มิฉะนั้นแล้วจะเพียรทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพียรรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ในชีวิตประจำวัน

    ธรรมทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน เช่น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมรณสติ การระลึกถึงความตาย และทรงแสดงเรื่องของมรณะ ๓ อย่าง คือ ขณิกมรณะ สมมติมรณะ และสมุจเฉทมรณะ สำหรับขณิกมรณะ คือ ความตายทุกขณะ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะเข้าใจจริงๆ ว่า ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ที่ว่าชีวิตยาว อายุยืนมาก ความจริงแล้วก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าทอนอายุของชีวิตที่ท่านคิดว่ายืนยาวมากให้สั้นลง เป็นชั่วขณะจิต จะเห็นได้ว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วในขณะที่เห็น ในขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นชีวิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่เห็น ไม่ใช่ชีวิตแน่ แต่ในขณะที่มีชีวิตคือเห็น เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นเห็นขณะหนึ่งแล้วตาย สั้นมากทีเดียว และขณะที่กำลังได้ยินนี้เอง ก็เป็นชีวิตชั่วขณะที่ได้ยินนั้น ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่ได้ยินแล้วก็ตาย

    เพราะฉะนั้น ขณิกมรณะ คือ ผู้ที่เจริญมรณสติที่เป็นปัญญาบารมีจะไม่เพียงระลึกถึงความตายที่เป็นสมมติมรณะ และก็เกิดการละคลายเพียงเล็กน้อยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้ตลอดไป เพราะว่าต้องมีการพลัดพราก ต้องมีการสูญเสียจากสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา ซึ่งถ้ารู้เพียงเท่านั้น ไม่สามารถจะดับกิเลสได้ แต่ถ้าผู้นั้นสามารถเข้าใจขณิกมรณะว่า คือ ความตาย ทุกๆ ขณะ ชั่วขณะที่เห็น เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ตาย เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ตาย เกิดขึ้น ได้กลิ่นแล้วก็ตาย เกิดขึ้นคิดนึกแล้วก็ตาย ถ้าเข้าใจขณิกมรณะอย่างนี้จะสามารถพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ ซึ่งเป็นมรณสตินั่นเอง

    เพราะฉะนั้น มรณสติจึงมีตามระดับขั้นของผู้ที่เข้าใจมรณสติ คือ ในขั้นของ การอบรมเจริญความสงบ และในขั้นที่จะพิจารณาเพื่อรู้ลักษณะของความตายที่มีอยู่ทุกขณะ

    ทุกอย่างในชีวิต จะทราบได้ว่า ขณะใดที่ปัญญาเกิด และขณะใดที่ปัญญา ไม่เกิด และขณะใดที่ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติอาจจะเกิดแทรกก็ได้ เช่น บางคนบอกว่า วันหนึ่งๆ ต้องเดินจงกรมด้วย คือ เป็นผู้ที่พากเพียรจะปฏิบัติธรรม และ จะอบรมทุกอย่าง แม้แต่ได้ยินคำว่า จงกรม ก็คิดว่า วันหนึ่งๆ การประพฤติ ปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องจงกรมด้วย

    แต่ถ้าเข้าใจถูกว่า ตามปกติที่นั่งบ้าง นอนบ้าง และเมื่อย จึงต้องเดิน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งหลายท่านเห็นว่า วันหนึ่งๆ ท่านไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เดิน เพราะปกติท่านก็นั่งบ้างนอนบ้างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ควรที่จะเดินเพื่อผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ และเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ขณะที่เดินก็เป็นผู้มีสติ แต่ไม่ใช่ มีความเห็นผิดว่า ตั้งใจจงกรมเพื่อให้เป็นสมาธิ ถ้ามีความเห็นอย่างนั้น ขณะนั้น จะเห็นได้ว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการอบรมเจริญปัญญา

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญสมาธิ หรือบางท่านที่เคยทำสมาธิมาแล้ว จะรู้ได้ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ หรือเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิก็เป็นเรื่องกุศล แต่กุศลขั้นสมาธิหรือสมถภาวนาไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ในชีวิตจึงควรเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เมื่อใดท่านผู้ใดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยจิตที่สงบถึงขั้นฌาน นั่นก็เป็นการสะสม เครื่องประกอบของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเท่านั้น แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่จิตไม่ต้องสงบถึงขั้นฌานจิต

    ขอเล่าถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านบอกว่า ครั้งหนึ่งท่านอยากทำสมถภาวนา ก็ได้เรียนถามท่านว่า ท่านจะทำสมถภาวนาโดยใช้อารมณ์อะไร ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกท่านคิดที่จะใช้ปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ แต่ว่ายุ่งยาก เพราะจะต้องไปหาดินสีอรุณมาเพ่ง และจะต้องมาทำเป็นกสิณ ท่านจึงดูพระอาทิตย์ เพราะว่าสะดวก แต่ในขณะที่ท่านดูพระอาทิตย์ ท่านก็เห็นแสงของพระอาทิตย์สวยดี เพราะฉะนั้น ก็ได้ทักท้วงท่านผู้นั้นทันทีว่า ขณะที่ใช้แสงพระอาทิตย์เป็นกสิณ คือวัณณกสิณ และเกิดความรู้สึกว่า แสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณนั้นสวยดี ขณะนั้น จิตสงบหรือเปล่า ในเมื่อใช้คำว่า สวยดี ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ขณะนั้นต้องเป็น จิตที่ยินดีพอใจในสีที่สวยนั้น

    ตอนหลังเมื่อท่านผู้นั้นเข้าใจเรื่องสมถภาวนา ท่านก็กล่าวว่า เวลาที่ท่าน ดูพระอาทิตย์ ท่านไม่สามารถรู้ได้ว่าจิตที่สงบเป็นอย่างไร ซึ่งตามความเป็นจริง เหตุที่ท่านไม่สามารถรู้ได้ว่าจิตที่สงบเป็นอย่างไร ก็เพราะว่าในขณะนั้นจิตไม่สงบ

    ผู้ที่สามารถรู้ลักษณะของจิตที่สงบ ก็ต่อเมื่อจิตที่สงบเกิดขึ้น ขณะใดที่ กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบ และถ้าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เริ่มที่จะพิจารณาสภาพของจิตที่ต่างๆ กัน ก็จะรู้ได้ว่า จิตขณะที่เป็นกุศลสงบ จากขณะที่จิตเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความติด มีความชอบ มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้จะคิดว่าตนเองกำลังเจริญสมถภาวนา กำลังดูสีของแสงพระอาทิตย์เป็นอารมณ์ แต่ถ้าขณะนั้นกุศลจิตไม่เกิด ความสงบไม่มี ผู้นั้นก็กล่าวว่า ไม่สามารถรู้ได้ว่า จิตที่สงบเป็นอย่างไร

    และภายหลังเมื่อท่านผู้นั้นเข้าใจเรื่องการเจริญสมถภาวนาแล้ว ท่านก็ได้เล่าต่อไปว่า ตามปกติท่านขึ้นรถประจำทาง ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกล เวลาที่ท่านเห็น เด็กนักเรียนบ้าง หรือคนที่มีอายุแล้วบ้าง ท่านก็หลับตา จะได้ไม่ต้องลุกให้เด็กหรือ คนที่มีอายุแล้วนั่ง แต่ภายหลังท่านเกิดเมตตา ท่านก็ถือกระเป๋าของเด็กบ้าง หรือให้ที่นั่งแก่ผู้ที่ควรจะให้บ้าง ขณะนั้นท่านสามารถรู้ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยเมตตาว่า ต่างกับขณะที่ท่านไม่มีเมตตาเลย เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ จะพิจารณาลักษณะสภาพของจิตที่สงบเป็นกุศล ย่อมรู้ความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลจิตซึ่งสงบกับขณะที่เป็นอกุศล

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1869

    ด้วยเหตุนี้สมถกัมมัฏฐานทั้งหมดที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันจึงได้แก่ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน คือ เมตตากัมมัฏฐาน และมรณสติ ซึ่งทุกท่านจะพิจารณา เห็นได้ว่า การที่จะให้จิตสงบโดยวิธีอื่นๆ ในชีวิตประจำวันนั้นไม่ง่าย และไม่ได้มี บ่อยทุกโอกาสเท่ากับการที่จะระลึกถึงความตาย คือ มรณสติ หรือการเป็นผู้มีปกติ มีเมตตา เพราะว่าทุกท่านต้องพบกับบุคคลอื่นๆ และในขณะที่พบกับบุคคลอื่น บางครั้งอาจจะเกิดโลภะ บางครั้งอาจจะเกิดโทสะ ในขณะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเกิด กุศลจิตที่เมตตาเกิด ขณะนั้นก็เป็นความสงบ ซึ่งจะสังเกต และรู้ได้ และเมื่อรู้ลักษณะของจิตที่สงบแล้ว จึงจะเจริญความสงบเพิ่มขึ้นจนกระทั่งความสงบนั้นสามารถปรากฏเป็นความสงบที่มั่นคง เป็นสมาธิขั้นต่างๆ ได้

    นี่คือการอบรมเจริญสมถภาวนาจริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ที่อยากจะทำสมถภาวนา และพยายามหาอารมณ์ของสมถภาวนา แต่ความสงบก็ไม่เกิด

    จะเห็นได้ว่า ช่องทางที่โลภะซึ่งเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้าจะเกิดในขณะที่ สติปัฏฐานไม่เกิดย่อมมีมาก ถ้าความคิด และการกระทำในชีวิตประจำวันของ แต่ละท่านยังไม่เป็นไปตามคลองของธรรมที่ถูกที่ควร ก็แสดงว่า ท่านยังไม่ได้สะสม สติขั้นการฟังพระธรรม และสติปัฏฐานเพียงพอที่ใกล้ต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งบางคนอาจจะอยากรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนลืมพิจารณาความคิด และการกระทำ ทางกาย ทางวาจา ของตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นไปในคลองของธรรมที่ถูกที่ควรหรือไม่

    ถ้าทุกท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และดำรงชีวิตในทางที่ถูกที่ควรตามคลองของธรรม เพราะเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุทำให้ชีวิตประจำวันของทุกท่านดำเนินไปในคลองของพระธรรม ถ้าแต่ละชาติๆ เป็นอย่างนี้ ไม่ต้องห่วง และไม่ต้องหวังว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไร เพราะเมื่อเหตุสมควรแก่ผล ผลก็ต้องเกิดขึ้น แต่ถ้าเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ที่จะหวังที่จะนั่งจนกระทั่งเลือดเนื้อแห้งเพื่อจะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเจตนาไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้เป็นเหตุให้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั่วทั้ง ๖ ทาง


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1870


    หมายเลข 13230
    29 ต.ค. 2567