ขัคควิสาณสูตร คาถาที่ ๒ การรู้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ


    ขอกล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเหตุสมควรแก่ผล โดยไม่มีใคร รู้จริงๆ ว่าจะเกิดขึ้นในขณะไหน เช่น การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร คาถาที่ ๒ มีข้อความโดยย่อว่า

    พระปัจเจกโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญสมณธรรมในศาสนาของพระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่า กัสสปะ ตลอดสองหมื่นปี

    เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก และเป็นการแสดงเพียงชาติที่ท่านเกิดในสมัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ แต่แม้กระนั้นท่านก็บำเพ็ญสมณธรรมตลอดสองหมื่นปี

    ท่านทั้งบรรลุฌาน และพิจารณานามธรรม และรูปธรรม แต่ไม่บรรลุมรรคผล ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อสิ้นชีวิตแล้วท่านก็เกิดในพรหมโลก เมื่อจุติจาก พรหมโลก ก็เกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์ไม่ทรงยินดีในสัมผัสของสตรีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกบุรุษเท่านั้นเป็นผู้เลี้ยงดู พระราชกุมารนั้น ด้วยเหตุนั้นพระญาติทั้งหลายจึงขนานพระนามพระราชกุมารว่า อนิตถิคันโธ

    เมื่อพระราชกุมารมีพระชันษาได้ ๑๖ พระชันษา พระราชบิดาก็ใคร่ให้ พระราชกุมารดำรงวงศ์ตระกูล พระราชกุมารก็ตรัสสั่งให้พวกช่างทองทำรูปสตรีให้ งามเลิศราวเนรมิต และตรัสให้แสวงหาสตรีที่งามประดุจรูปทองนั้นมาถวายพระองค์

    เพราะไม่ทรงยินดีในการสัมผัสของหญิง จึงคิดว่าหนทางเดียวที่จะไม่ทำตามพระประสงค์ของพระราชบิดา คือ ให้ช่างทองทำรูปสตรีที่งามเลิศราวเนรมิตด้วยคิดว่า คงไม่มีสตรีที่งามเลิศอย่างนี้

    พวกอำมาตย์ได้นำรูปทองคำไปตามชนบทใหญ่ๆ ๑๖ แห่ง เว้นมัททรัฐเพียง รัฐเดียว เพราะเห็นว่าเป็นเพียงรัฐเล็กๆ เมื่อหาสตรีที่งามประดุจรูปทองคำนั้น ไม่ได้ในชนบทใหญ่ๆ ๑๖ แห่ง ก็ได้สู่มัททรัฐ เพราะว่าไม่อยากกลับไปก่อน และให้พระราชาส่งกลับไปใหม่

    เมื่อพวกอำมาตย์ไปสู่สาคลนครในมัททรัฐก็ได้ทราบว่า พระธิดาของ พระเจ้ามัททวะนั้นสวยงามยิ่งกว่ารูปทองคำ จึงได้เข้าไปเฝ้า และทูลขอพระราชธิดา ซึ่งพระราชาก็พระราชทานให้ พวกอำมาตย์ได้ส่งข่าวทูลพระเจ้าพาราณสีให้ทรงทราบ และทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จมาเอง หรือให้พวกอำมาตย์เท่านั้นรับพระธิดาไป

    พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงส่งข่าวไปว่า เมื่อพระองค์เสด็จไป จะเป็นการเบียดเบียนชนบท เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นใหญ่กว่าชนบทนั้นๆ ฉะนั้นก็ ให้พวกอำมาตย์นำธิดาไป ซึ่งเมื่อพระราชกุมารได้สดับข่าวนั้นก็ทรงถูกราคะครอบงำ พระองค์ทรงส่งทูตคนอื่นไปอีกเพื่อให้นำพระธิดามาเร็วๆ พวกอำมาตย์ก็รีบนำพระธิดาไปสู่กรุงพาราณสี โดยพักเพียงคืนเดียวเท่านั้น

    เมื่อถึงภายนอกพระนครก็ส่งข่าวไปถวายพระราชาว่า จะทรงโปรดให้นำพระธิดาเข้าสู่พระนครในวันนี้หรือไม่ พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสให้นำพระธิดาไปที่ พระราชอุทยานก่อน เพื่อทำมงคลกิริยา แล้วจึงจะให้เข้ามาด้วยสักการะใหญ่สมควรแก่ตระกูลอันประเสริฐที่สุด อำมาตย์เหล่านั้นก็ได้ทำตามพระราชโองการ

    พระธิดาบอบช้ำแล้วเพราะการกระทบกระแทกแห่งยาน ทำให้มีโรคลมเกิดขึ้น เพราะความเมื่อยล้าจากการเดินทางไกลจึงได้ทำกาละ (คือ สิ้นพระชนม์) ในคืนนั้นเอง ดุจดอกไม้ที่เหี่ยวไปฉะนั้น

    เมื่อพระราชกุมารทรงสดับเท่านั้น ทรงโศกเศร้าอย่างยิ่ง ต่อแต่นั้นก็ ทรงดำริว่า ธรรมดาความโศกนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด แต่ย่อมมีแก่ผู้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ความโศกมี เพราะอาศัยชาติ ก็ชาติมีเพราะอาศัยอะไรเล่า แต่นั้นทรงมนสิการโดยแยบคายด้วยอานุภาพแห่งภาวนาในกาลก่อนอย่างนี้ว่า ชาติมี เพราะอาศัยภพ (คือ กัมมภพ) ทรงเห็นปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม และปฏิโลม ทรงพิจารณาสังขารทั้งหลาย ประทับนั่ง ณ ที่นั้นนั่นแล ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่ง ปัจเจกโพธิญาณ

    เพราะฉะนั้น ทุกท่าน ทุกชาติ ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น

    การเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม และเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเข้าใจสภาพของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งในชาติสุดท้ายที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่มีใครสามารถทราบวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของ ชาตินั้นว่าจะประสบกับเหตุการณ์อะไรบ้าง ซึ่งก็ดูเป็นชีวิตธรรมดาไม่ต่างกัน ชาติก่อนหรือชาตินี้ หรือชาติหน้าต่อๆ ไปอีกทุกๆ ชาติ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แม้จะเคยได้ฌาน ฌานเสื่อม เคยเจริญสติปัฏฐาน เคยระลึกรู้พิจารณาลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เหมือนกับผู้ที่มีชีวิตตามปกติธรรมดา ตามกำลังของกุศล และอกุศล เพราะว่าในกาลช่วงหนึ่งก็อาจจะเป็นผู้ที่ดูเสมือนมี กิเลสน้อย แต่ความจริงแล้วถ้ายังไม่ได้ดับกิเลส จะชื่อว่าน้อยไม่ได้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1870


    หมายเลข 13231
    29 ต.ค. 2567