ขัคควิสาณสูตร คาถาที่ ๗ การรู้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ


    จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละชาติ ก็เป็นเครื่องที่จะสอบปัญญาได้ว่า อบรมมาในขั้นใด ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องมีชีวิตดำเนินไป ทั้งทางโลก และทางธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงชาติที่สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าสัจจธรรมเป็นจริงทุกขณะ คือ สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย และดับไป แต่ยังไม่เป็นอริยสัจจธรรมตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นๆ แต่การอบรมปัญญาในทุกชาติไม่สูญ ไม่หายไป พร้อมที่จะถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ไม่มีใครสามารถรู้ว่าเมื่อไร บางคนก็เมื่อสูญเสียบุตร จึงได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    อีกเรื่องหนึ่ง

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร คาถาที่ ๗ มีข้อความว่า

    ในกรุงพาราณสี มีพระราชาทรงพระนามว่า เอกปุตติกพรหมทัต พระราชโอรสพระองค์เดียวนั้น เป็นที่รักที่พอพระทัยเสมอด้วยชีวิตของพระองค์ พระองค์ทรงพาพระราชโอรสไปในพระอิริยาบถทั้งปวง

    คือ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินที่ไหน ก็ทรงนำพระราชโอรสไปด้วย

    วันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ไม่ทรงพาพระราชโอรสนั้น เสด็จไป วันนั้นพระราชโอรสทรงประชวร และสิ้นพระชนม์ในวันนั้นเอง อำมาตย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระราชโอรสนั้น โดยมิได้ทูลให้พระราชาทรงทราบ เพราะคิดว่า เมื่อทรงทราบ แม้พระหทัยของพระราชาก็พึงแตกสลาย

    ภายหลังเมื่อพระราชาทรงทราบ และภายหลังที่ทรงถูกความโศกครอบงำแล้ว ได้ทรงกระทำในพระทัยโดยแยบคายว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด ดังนี้ พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งปฏิโลม และอนุโลมโดยลำดับอย่างนี้ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณ

    ดูเหมือนไม่ยาก เมื่อถึงเวลาที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมพอ ก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ชีวิตเป็นธรรมดาอย่างนี้ และได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แม้ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เริ่มตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรา และมรณะ โสกะ ปริเทวะ

    ก็ได้ยินอย่างนี้ทุกชาติๆ และได้ศึกษา ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดยิ่งกว่านี้ แต่เมื่อยังไม่ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไป และการที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ใช่โดยความหวัง แต่โดยการอบรมเจริญเหตุจนสมควรแก่ผล ผลจึงจะเกิดขึ้นได้

    ขณะนี้อาจจะมีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าเหตุสมควร แก่ผล

    ถ้าเป็นในครั้งที่เป็นกาลสมบัติ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม และมีผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามามาก เพียงได้ฟังพระธรรมเพียงสั้นๆ บางท่าน ก็สามารถเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้ แต่สำหรับแต่ละท่านที่ยังไม่ถึงขณะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญต่อไป

    ถ. ที่ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงได้มี หมายถึงปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า

    สุ. แน่นอน

    ถ. สิ่งนี้มี หมายถึงอะไร

    สุ. อวิชชามี สังขารก็มี

    ถ. แต่ฟังแล้ว อวิชชามีจึงเป็นเหตุให้มีสังขาร ก็รู้อยู่ว่าอวิชชามี แต่ที่จะ รู้จริงๆ ว่า อวิชชามีขนาดไหน ก็ไม่ค่อยจะรู้

    สุ. ถ้าโกรธ เป็นอกุศล สามารถรู้ได้ไหมว่า เพราะมีอวิชชาจึงโกรธ หรือเวลาโกรธก็ยิ่งโกรธขึ้น เพราะปัญญาไม่ได้เกิดเลย ไม่พิจารณาเลยว่า ความโกรธที่เกิดขึ้นนี้มาจากอะไร มีอะไรเป็นมูล มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด มีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ถ้าโกรธเกิด โกรธคนซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ โกรธชื่อ หรือโกรธรูปขันธ์ หรือโกรธ เวทนาขันธ์ หรือโกรธสัญญาขันธ์ หรือโกรธสังขารขันธ์ หรือโกรธวิญญาณขันธ์ ซึ่งเกิด และดับไปทันที ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคลนั้นเลยจริงๆ

    แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น เมื่อไม่ได้พิจารณาก็โกรธคนนั้น หรือไม่พอใจ คนนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้นที่ความโกรธเกิดขึ้น เพราะไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้ความโกรธที่เกิดก็เป็น แต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนดับกิเลสได้ จึงยังต้องโกรธอยู่


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1870


    หมายเลข 13233
    29 ต.ค. 2567