โทสมูลจิต ว่าโดยประเภทมี ๒ ดวง
ต่อไปเป็นเรื่องของอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครชอบ คือ โทสมูลจิต ว่าโดยประเภทมีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ
โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง
และ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง
อกุศลจิตที่เป็นโทสมูลจิตมีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น แต่เป็นอกุศลจิตประเภทที่ ไม่มีใครชอบ เพราะเป็นสภาพที่ประทุษร้ายเบียดเบียนให้เป็นทุกข์
และจะสังเกตรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นอกุศลจิตประเภทใด เพราะโลภมูลจิตมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท โทสมูลจิตมี ๒ ดวง และโมหมูลจิตมี ๒ ดวง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นก็จะเป็นอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต ซึ่งเกิดกับอุเบกขาเวทนา แต่ถ้าเป็นโทสมูลจิตแล้ว จะเกิดกับเวทนาได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ขณะใดที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดทั้งสิ้น จะเป็นในลักษณะความเดือดร้อนใจ ความกังวลใจ ความกระสับกระส่าย ความเศร้าโศก ความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ขณะที่ไม่เพลิดเพลินยินดี แต่รู้สึกยินร้าย ขณะนั้นเป็นจิตซึ่งประกอบด้วยโทสเจตสิก และโทมนัสเวทนา ในอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ในวันหนึ่งๆ แต่ละคนจะสังเกตได้ว่า เป็นเจ้าโลภะ หรือเจ้าโทสะ ขณะใดที่โกรธบ่อยๆ ลักษณะของโทสะเกิดมากเป็นไปในอาการต่างๆ เป็นผู้ที่มีความโกรธเกิดขึ้นง่าย และเร็ว ขณะนั้นก็เป็นผู้สะสมโทสะมามาก ก็จะรู้สึกตัวว่า เป็นคนเจ้าโทสะ
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบาย อกุศลจิตดวงที่ ๙ คือ โทสมูลจิตดวงที่ ๑ มีข้อความว่า
ใจเสีย หรือใจที่บัณฑิตเกลียด เพราะมีเวทนาอันเลว เหตุนั้นชื่อว่าทุมนะ แปลว่า ใจเสีย หรือใจที่บัณฑิตเกลียด ภาวะแห่งทุมนะ ชื่อว่าโทมนัสสะ
แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพของจิตที่ไม่มีใครชอบเลย เพราะมีเวทนาอันเลว ซึ่งทำให้เป็นสภาพที่โทมนัส คือ ทุมนะ
อกุศลจิตชื่อว่าโทมนัสสสหคตัง ด้วยอรรถว่า เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนานั้น
บางท่านอาจจะคิดว่า โทสมูลจิต คือ ลักษณะของความโกรธ ขณะที่จิตประกอบด้วยความโกรธ แต่ไม่ใช่เฉพาะโกรธ กลัว หรือไม่ชอบขณะใด ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิตทั้งหมด เพราะเกิดร่วมด้วยกับโทมนัสเวทนา
สำหรับลักษณะของโทมนัสเวทนา คือ
อนิฏฐารัมมณานุภวนลักขณัง มีการเสวยอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ
อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ซึ่งเป็นที่ไม่พอใจ
ยถา ตถา วา อนิฏฐาการสัมโภครสัง มีการเสวยโดยอาการที่ไม่น่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นรสะ คือ เป็นกิจ
เจตสิกาพาธปัจจุปัฏฐานัง มีความเจ็บทางใจเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ
เอกันเตเนวะ หทยวัตถุปทัฏฐานัง มีหทยวัตถุโดยส่วนเดียวเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
เพราะโทสมูลจิตไม่เกิดกับรูปพรหม และอรูปพรหมบุคคล จะเกิดกับผู้ที่เกิดในกามสุคติภูมิหรืออบายภูมิ คือ ในกามภูมิเท่านั้น
แม้กายไม่เจ็บแต่ใจเจ็บได้ไหม ในวันหนึ่งๆ นั่นคือ ลักษณะของโทมนัสเวทนา
ทุกคนร่างกายแข็งแรงดี ปกติ แต่ทั้งๆ อย่างนั้น ใจเจ็บแล้วด้วยเวทนาซึ่ง เป็นโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ถ้ากายเจ็บ ใจจะเป็นอย่างไร ก็ต้องพลอยรู้สึก ขุ่นข้องหม่นหมองเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยแน่ๆ ด้วยกำลังของทุกขเวทนาที่เกิดทางกาย นอกจากกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นจึงจะไม่ใช่อกุศลจิต ถึงแม้ว่ากายจะเจ็บ แต่ถ้าสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่าไม่ใช่ตัวตน ทุกขเวทนานั้นไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่เรา ขณะนั้นที่เป็นกุศลนั้น ใจจึงไม่เจ็บ มิฉะนั้นบางทีกายไม่เจ็บ ใจเจ็บ หรือบางที กายเจ็บ จึงทำให้ใจพลอยเป็นทุกข์โทมนัสอย่างมากด้วย
คำอธิบาย ปฏิฆะ มีข้อความว่า
ที่ชื่อว่าปฏิฆะ ด้วยอรรถว่า กระทบอารมณ์โดยภาวะที่ไม่พอใจ อกุศลจิต ชื่อว่าปฏิฆสัมปยุตตัง ด้วยอรรถว่า สัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมด้วยปฏิฆะนั้น
เพราะฉะนั้น ปฏิฆะนั้นเป็นอีกชื่อหนึ่งของโทสเจตสิก เพราะเป็นสภาพที่กระทบกระทั่งอารมณ์โดยสภาพที่ไม่พอใจ
สำหรับคำอธิบายโทสเจตสิก ใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า
ที่ชื่อว่าโทสะ โดยอรรถว่า เป็นธรรมที่ประทุษร้าย หรือเป็นเหตุให้ประทุษร้าย
โทสเจตสิกนั้น จัณฑิกกลักขโณ มีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี
วิสัปปนรโส มีความกระสับกระส่ายเป็นรสะ ราวกับถูกวางยาพิษ หรือ อัตตโน นิสสยทหนรโส มีการเผาที่อาศัยของตนเป็นรสะ ราวกับไฟไหม้ป่า
ทุสสนปัจจุปัฏฐาโน มีการประทุษร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน ราวกับข้าศึกศัตรูที่ได้โอกาส
อาฆาตวัตถุปทัฏฐาโน มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตเป็นปทัฏฐาน ราวกับน้ำมูตรเน่าที่ระคนด้วยยาพิษ
นี่คือลักษณะของโทสะ ซึ่งเป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ถูกใครประทุษร้ายเบียดเบียนเลย นอกจากโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ประทุษร้าย
สำหรับโทสเจตสิกที่ว่า เป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่สามารถกั้นข้าศึกนี้ได้เลย ข้าศึกภายนอกยังมีป้อมปราการ เป็นเครื่องกั้น มีประตูหน้าต่างเป็นเครื่องกั้น แต่ว่าโทสะซึ่งเป็นข้าศึกภายใน เกิดขึ้นประทุษร้ายทันที หนีไม่ทัน เพราะไม่มีเครื่องกั้นเลย
สภาพธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทุกคนรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ แต่ธรรมที่ประทุษร้ายได้จริงๆ ไม่ใช่ความเสื่อมลาภ หรือความเสื่อมยศ หรือการนินทา หรือความทุกข์ แต่ สภาพธรรมอย่างเดียวที่ประทุษร้ายได้ตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ คือ โทสเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาลักษณะของโทสเจตสิก ซึ่งมีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1364
ทุกคนเคยโกรธมาแล้วทั้งนั้น ก็พอที่จะเปรียบเทียบได้ว่า ขณะที่โกรธต่างกับขณะที่ไม่โกรธ เวลาที่ไม่โกรธ รู้สึกสบายดี ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นปกติดี แต่เวลาที่เกิดโทสะขึ้น ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า มีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี เปลี่ยนสภาพจากปกติแล้วในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขุ่นเคืองเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นแต่เพียงความหงุดหงิด ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ จนกระทั่งถึงความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เดือดร้อนใจ เป็นทุกข์โศกเศร้า ในขณะนั้นให้เห็นลักษณะสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ซึ่งต่างกับขณะที่โทมนัสเวทนาไม่เกิด นั่นคือลักษณะของโทสะซึ่งดุร้ายราวกับอสรพิษที่ถูกตี
มีใครที่โกรธแล้วไม่รู้สึกอย่างนี้บ้างไหม รู้สึกหยาบกระด้างดุร้ายขึ้นมาทันที ผิดปกติจากที่เคยเป็น
สำหรับรสะ กิจการงานของโทสะ คือ วิสัปปนรโส มีความกระสับกระส่ายเป็นรสะ ราวกับถูกวางยาพิษ ด้วยพิษของโทสะ ถ้าเป็นพิษอื่นซึ่งกระทบกระทั่งกาย อาจจะถูกสัตว์ร้ายหรือถูกต้นไม้ที่มีพิษทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น แต่ขณะนั้นก็ไม่เหมือนกับโทมนัสเวทนาซึ่งเกิดทางใจ เพราะเวลาที่จิตใจกระสับกระส่ายเดือดร้อน ในขณะนั้นสิ่งอื่นจะทำให้ไม่ได้เลย ที่ว่าราวกับถูกวางยาพิษ เพราะทำให้จิตใจ ในขณะนั้นเต็มไปด้วยพิษของโทสะ ซึ่งสภาพธรรมอื่นทำกิจนั้นไม่ได้เลย นอกจาก โทสเจตสิกเท่านั้นที่กระทำกิจนั้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าสติสามารถระลึกทันทีที่โทสมูลจิตเกิด จะรู้สึกได้ว่า กำลังได้รับพิษของโทสะ เหมือนกับถูกวางยาพิษในขณะนั้นทีเดียว
หรือมิฉะนั้น กิจอีกอย่างหนึ่งของโทสะ คือ อัตตโน นิสสยทหนรโส มีการเผาที่อาศัยของตนเป็นรสะ ราวกับไฟไหม้ป่า
ขณะที่เป็นทุกข์เดือดร้อนไม่สงบเลย ขณะนั้นรู้สึกอย่างไร เหมือนถูกเผาไหม เพราะฉะนั้น ลักษณะของโทสะย่อมเหมือนอย่างไฟไหม้ป่า คือ โทสะนั้นย่อมเผาจิตใจซึ่งเป็นที่อาศัย โทสะไม่เกิดที่อื่นเลยนอกจากเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นสภาพของโทสะเหมือนไฟเผาป่า คือ เป็นสภาพที่ทำให้วัตถุที่อาศัยรุ่มร้อน เดือดร้อน เป็นทุกข์ แม้แต่วัตถุ คือ รูปกายซึ่งเป็นที่อาศัยของจิต ก็พลอยหมองไหม้เป็นทุกข์ไปด้วย และอาจจะทำให้ถึงกับเป็นโรคภัยต่างๆ ด้วยกำลังของโทสะ
สำหรับอาการที่ปรากฏ คือ ทุสสนปัจจุปัฏฐาโน มีการประทุษร้ายเป็น ปัจจุปัฏฐาน ราวกับข้าศึกศัตรูที่ได้โอกาส
ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่าคนอื่นเป็นศัตรู คิดผิด ไม่มีใครเป็นศัตรูของท่านได้เลยจริงๆ นอกจากอกุศลธรรมของท่านเอง โดยเฉพาะเมื่อโทสะเกิดขึ้นขณะใด ประทุษร้ายขณะนั้น ศัตรูมาแล้ว แต่เป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ที่สุด ที่สามารถเข้ามาประทุษร้ายได้ ทุกโอกาส โดยที่ไม่มีเครื่องกั้นเลย
มีใครสามารถกั้นโทสะไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่ได้เลย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่โทสะจะเกิด โทสะก็เกิด ถ้าสติจะเกิดภายหลัง ก็เพียงแต่ขับไล่หรือระงับโทสะที่จะเกิด เพิ่มมากขึ้นให้คลายลง ถ้ายังไม่เป็นผู้ที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท มีปัจจัยของโทสะที่จะเกิดขณะใด ขณะนั้นโทสะก็ต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย
โทสะไม่ใช่เพียงแต่ความโกรธ แต่ความรู้สึกไม่สบายใจทั้งหมดในวันหนึ่งๆ เป็นสภาพของโทสเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นประทุษร้ายจิต และต้องเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ในขณะนั้น
ที่มา ...