ทำบุญด้วยความหวัง
ถ . ที่บอกว่า ทำบุญไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำบุญประกอบด้วยโลภะ ที่ว่าหวังนิพพาน หวังสวรรค์ แต่พระผู้มีพระภาคหวังพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะอธิบายให้คนอื่นฟังอย่างไร
สุ. ขอทบทวนอีกที ไม่ทราบถูกต้องไหมที่ว่า ทำบุญด้วยความหวังกับการที่พระผู้มีพระภาคทรงหวังการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ต่างกันอย่างไร
ทุกท่านยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังยินดีพอใจในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สักการะ เพราะฉะนั้น ท่านที่มีความติด มีความพอใจในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในสักการะ ก็พยายามทำทุกทางเพื่อให้ได้ลาภ ที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ทุกวัน และทำกิจการงานต่างๆ ทำเพื่ออะไร ทำไมทุกคนต้องขวนขวายทำกิจการงานด้วยความเหนื่อยยาก ก็เพื่อที่จะได้ลาภ คือ รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง
บางคนแม้จะไม่มีความยึดมั่นในลาภเหล่านี้ ไม่เป็นผู้ติดในทรัพย์สมบัติ แต่ก็ยังอยากได้คำสรรเสริญ คำชมเชยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น บางคนเพียงแต่จะ ทำอะไรก็ตาม และมีคนชมว่าเก่งมาก ไม่ได้ให้ทรัพย์สินเงินทองอะไรเลย แต่ก็เป็นที่แสวงหาแล้วในสักการะ หรือในสรรเสริญนั้น
จะเห็นได้ว่า อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้โดยอุปนิสสยปัจจัยตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว สภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งจิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เมื่อมีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยโดยนัยหนึ่งนัยใด หรือโดยเป็นปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดทำให้สภาพธรรมอื่นเกิด เช่น ความพอใจในลาภก็ดี ในยศก็ดี ในสรรเสริญก็ดี เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง
คำว่า อุปนิสสยปัจจัย นิสสยะ หมายความถึงที่อาศัย อุปะ แปลว่า มีกำลัง เพราะฉะนั้น โลภเจตสิก ความยินดีติดข้องในลาภบ้าง ยศบ้าง สรรเสริญบ้าง สุขบ้าง เป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้มีการขวนขวายทำกิจการงานต่างๆ ทั้งที่ เป็นอกุศล และที่เป็นกุศลเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ อย่างท่านที่อยากจะทำทานหรือทำบุญกุศลด้วยความปรารถนาสวรรค์บ้าง หรือปรารถนาทรัพย์สมบัติ ความเป็นเศรษฐีมั่งมีเงินทองต่างๆ ขณะนั้นจะไม่ทราบเลยว่าเพราะอะไรจึงทำ แต่ตาม ความเป็นจริงแล้ว เพราะความต้องการในลาภในยศนั่นเองที่ทำให้กระทำทานกุศลนั้น นี่คือคำตอบที่ว่า การทำบุญด้วยความหวัง ความติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุขนั้นคืออย่างนี้
แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของโลภะ รู้ว่าโลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่สามารถทำให้สละ ละจากสิ่งที่เคยยึดมั่นได้ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวง ถ้าค่อยๆ พิจารณา และเห็นโทษของโลภะ ขณะที่ทำบุญกุศลจะเลิกคิดหรือเลิกถามว่า จะได้บุญไหม หรือบางคนก็ถามว่า จะได้บุญมากไหม
ใครก็ตามที่ทำสิ่งที่ดีด้วยความคิดว่า ทำอย่างนี้จะได้บุญไหม หรือทำอย่างนี้จะได้บุญมากไหม ก็หมายความว่าผู้นั้นยังทำด้วยความหวังว่าจะได้รับผลตอบแทน คือผลของบุญ และมีการวัดด้วยจากการกระทำความดีนั้นว่า ถ้าทำอย่างนี้ แบบนี้ จะได้บุญมาก หรือทำอีกแบบหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง จะได้บุญมากกว่า
แสดงให้เห็นถึงการติดในผลซึ่งเกิดจากการทำกุศลนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ การทำเพื่อขัดเกลา และเห็นโทษของโลภะ ผู้ที่ยังถามว่า ทำอย่างนี้ได้บุญไหม แสดงถึงความไม่เข้าใจว่า บุญคืออะไร
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ความรู้ความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างตรงตามเหตุตามผล ไม่ทำให้ผู้ที่ศึกษาเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน แต่ผู้ใดที่ไม่ศึกษาจะเข้าใจคำที่ใช้ในพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน เช่น คำว่า บุญ คิดว่าเป็นเรื่องของวัตถุสิ่งของ ถ้าให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากๆ ก็เข้าใจว่า ขณะนั้นได้บุญมาก โดยที่ไม่ทราบเลยว่า แท้ที่จริงแล้วบุญไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น ซึ่งปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ปราศจากอกุศล
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาสามารถรู้จิตใจของตนเองได้ว่า ในขณะที่ทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ในขณะนั้นไม่ได้มุ่งหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน ไม่ต้องมานั่งคิดนั่งชั่งว่า บุญนี้จะมากหรือจะน้อย จะเป็นบุญหรือไม่ใช่บุญ แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ และมีจิตที่ดีงามเป็นกุศลเกิดขึ้นสามารถกระทำสิ่งนั้นๆ โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใด และ ยังรู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นการกระทำที่ดีที่ควร อย่างเช่นรู้ว่าการฆ่า การเบียดเบียน การประทุษร้ายเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศล ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ไม่ใช่ รู้ผิดหรือเข้าใจผิด สามารถรู้อกุศลว่าเป็นอกุศล และรู้ว่ากุศลเป็นกุศล แต่ไม่ควร จะชั่งหรือมุ่งหวังที่จะได้รับผลของบุญ เพราะขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นการติดข้องใน ผลของบุญนั่นเอง
และสำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ที่สามารถเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยการ ทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังสามารถประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้นเช่นเดียวกับพระองค์ เพราะฉะนั้น การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำกุศลด้วยปัญญา รู้ว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นอกุศล คิดที่จะละ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำบุญกุศลด้วยความหวังที่เป็นโลภะ
ที่มา ...