สมถะ สมาธิ วิปัสสนา อยู่ในข้อปฏิบัติธรรมไหม
คุณศุกล ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์ เกี่ยวกับเรื่องข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เช่น สมถะหรือสมาธิ และวิปัสสนา จะสงเคราะห์ในข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาได้ไหม เพราะว่าปกติแล้ว เท่าที่ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนธรรม ก็มักจะพูดกันถึงเรื่องว่าไปปฏิบัติธรรมๆ ที่มีโอกาสสอบถามก็ได้ความว่า ก็คือการไปนั่งแล้วก็ปฎิบัติตามที่มีผู้สอน เพราะฉะนั้นก็เลยมีข้อปฏิบัติที่ว่า น่าจะเป็น ๒ อย่างหรือ ๒ ลักษณะ คือไปนั่งปฏิบัติที่เป็นสมาธิ กับการปฏิบัติที่เป็นแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็อยากจะขอกราบเรียนท่านอาจารย์ ให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าท่านผู้อื่นสนใจในเรื่องนี้หรือเปล่า สนใจ ก็เป็นชีวิตประจำวัน ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ก่อนอื่นต้องทราบว่าพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ทุกชีวิต ในชีวิตประจำวันทุกขณะ เรื่องนี้ก่อน เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องที่สูงมาก เป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญา เห็นโทษของกิเลสของตนเอง
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นกิเลสในวันหนึ่งๆ ว่ามีมากแค่ไหนเสียก่อน อย่างเวลาที่เราตื่นนอนมา แล้วบางคนก็บอกว่า เขาไม่มีกิเลสเลย เขาไม่ได้อยากได้อะไรของใคร เขาก็ไม่โกรธใครด้วย นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้ว ผู้นั้นเจริญสมถะก็ไม่ได้ เจริญวิปัสสนาก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ตัวเองว่ามีกิเลสตั้งแต่ลืมตาตื่น
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเจริญความสงบจากกิเลส ต้องเห็นโทษ และต้องรู้จักกิเลสจริงๆ อย่างเวลาที่ตื่นมา เพียงลืมตาขึ้นมา เราอาจจะไม่รู้ว่า เรามีความต้องการเกิดขึ้นทันทีที่เราตื่น บางคนก็อาจจะอยากฟังเพลง เอื้อมมือไปเปิดวิทยุ บางคนก็รีบเข้าไปในห้องน้ำ ทำกิจธุระต่างๆ ทั้งหมด ถ้าขณะใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในปัญญา ที่รู้สภาพของจิตที่สงบว่าต่างกับจิตที่ไม่สงบ ไม่มีปัญญาที่รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงว่าอย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่พ้นจากโลภะในวันหนึ่งๆ
เพราะเหตุว่าความต้องการในวันหนึ่ง มีหลายระดับ ความต้องการที่เรามี จนกระทั่งเราสังเกตเห็น อย่างเวลาที่เราไปตามห้างสรรพสินค้า หรือไปตลาด หรือเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วรู้สึกว่าสวย อยากจะได้ ชอบ เป็นสิ่งที่เรากำลังต้องการ ในขณะนั้นถ้าไม่พิจารณา เราก็อาจจะไม่เห็นว่าเป็นโลภะ หรือเป็นความต้องการแล้ว แต่ก่อนนั้นอีก ก็ยังมีความต้องการในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เรื่อยมา ซึ่งผู้ที่จะเจริญความสงบ ก่อนอื่นต้องเห็นโทษของกิเลส ของตนเอง
และเวลาที่ภาษาไทยเรา ใช้คำภาษาบาลี เราไม่ได้เรียนจริงๆ เพราะฉะนั้นเรามักจะนึกเอาเอง ว่าคงจะหมายความว่าอย่างนี้ หรือคงจะหมายความว่าอย่างนั้น แม้แต่คำว่าสมถะ และคำว่าวิปัสสนา ยังไม่ทันรู้ความหมายจริงๆ เลย ก็จะทำ แล้วลองคิดดูว่า ยังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วจะทำ แล้วมันจะเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร เพราะว่าสมถะก็ยังไม่รู้ว่า แปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร วิปัสสนาก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วจะไปทำอะไร แล้วจะได้ผลตรงกับที่ทำหรือเปล่า เพราะว่าเรายังไม่มีความรู้เลย
เพราะฉะนั้นก่อนอื่น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา หลังจากที่ตรัสรู้แล้วไม่นานเลย เสด็จจากสถานที่ตรัสรู้ เพื่อที่จะทรงโปรดเวไนยสัตว์ เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อแสดงพระธรรม เห็นไหมว่าประโยชน์ของพระธรรม จะมีมากสักแค่ไหน และหลังจากนั้นมา ทรงแสดงพระธรรมมากกว่าใครในโลก คือเมื่อตื่นบรรทมแล้วก่อนที่จะเสด็จไปบิณฑบาต ก็ได้ตรวจดูด้วยพระญาณว่า ควรจะเสด็จไปโปรดใคร ถ้าเวลายังเช้านัก ก็เสด็จไปสนทนาธรรมกับคนนั้น ซึ่งรับฟังพระธรรม และเข้าใจได้ คุ้มต่อการที่จะเสด็จไปโปรด นี่ก่อนบิณฑบาต และเมื่อบิณฑบาตแล้ว หลังจากที่เสวยภัตแล้ว ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ก็จะมีการแสดงธรรมกับพระภิกษุ และก็ตอนเย็นก็จะมีพวกคฤหัสถ์ไปเฝ้า ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน หรือว่าที่ไหนก็ตาม เพื่อฟังพระธรรม เมื่อคฤหัสถ์กลับไปแล้ว พระภิกษุก็มาทูลถามปัญหาอีก และหลังจากนั้นแล้วเทวดาทั้งหลาย ซึ่งท่านก็มีปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือพรหม ถ้ายังมีกิเลส ก็ล้วนแต่มีปัญหาทั้งนั้น ก็มาถามปัญหาของตนๆ แก่พระองค์ นี่แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวัน ทรงแสดงธรรม เพื่อให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นพระธรรมมีประโยชน์มาก ที่เราต้องฟังก่อน ที่เราจะปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่ฟังก่อน เราจะปฏิบัติผิด หรือว่าเข้าใจผิดได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น ขอให้ปรึกษาหรือว่าศึกษาพระธรรมดูก่อน คำนั้นๆ หมายความว่าอะไร อย่างสมถะ ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้อง สมถะโดยศัพท์ภาษาบาลี เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้ว หมายความว่า สงบ เพียงแค่นี้ไม่พอเลย คนก็ไปตีความอีกว่า นั่งคนเดียวเงียบๆ แต่นั่นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าสงบต้องสงบจากอกุศล สงบจากกิเลส จึงจะชื่อว่าสงบจริงๆ
ถ้าเราไปตามท้องนาไกลๆ ไม่มีผู้คนเลย มีต้นตาล มีต้นข้าว มีฟ้า มีน้ำ แล้วจะบอกว่าที่นั่นสงบไม่ได้ ใจของเราต่างหาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรา มีโลภะ มีความต้องการอะไรหรือเปล่า มีโทสะ มีความขุ่นเคืองใจไหม มีอกุศลธรรมใดๆ บ้างหรือเปล่า มีความคิดนึก ซึ่งเป็นอกุศล เป็นไปในการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า มีความคิดเรื่องการงานยุ่งๆ ทั้งวัน จะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็ ต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สงบจากกิเลส การที่จะนั่งเฉยๆ อยู่ในห้อง ก็ไม่สงบจากกิเลส แต่สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะสงบกิเลสได้ ก็คือปัญญา
เพราะฉะนั้นคำว่า ปัญญา ในพระพุทธศาสนา บางคนก็อาจจะคิดว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ว่านั่นปัญญาที่เราคิดเอาเอง ปัญญาภาษาไทย ปัญญาในสมุดพก ปัญญาที่ครูเขียนมาว่า คนนี้มีสติปัญญามากน้อย แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนี้คือปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง ในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ นั่นจึงจะชื่อว่าปัญญา
เพราะฉะนั้นทุกคนมีจิตใจ แต่ไม่เคยพิจารณาจิต มีแต่ความต้องการ แม้แต่ได้ยินคำว่า สมถะ ก็ยังไม่รู้ว่าอะไร แต่อยากจะทำแล้ว เพราะฉะนั้นความอยากขณะนั้น ไม่ใช่ความสงบ ความอยากมีหลายอย่าง บางคนก็ชอบรูปสวยๆ บางคนก็ชอบฟังเพลงเสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นน้ำหอม เพราะฉะนั้นน้ำหอมราคาแพงมาก ตามความนิยมหรือตามโลภะของเรา ถ้าเราต้องการกลิ่นนี้แต่ราคาแพงมาก นั่นก็เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่า เราต้องการขนาดไหน ต้องการที่จะซื้อหรือต้องการเพียงได้กลิ่นนิดหน่อยก็พอ นี่แสดงให้เห็นว่าโลภะไม่เคยห่างไกลเราตั้งแต่เกิด ทางตาต้องการสิ่งที่สวยงาม ทางหูต้องการเสียงเพราะ ทางจมูกต้องการกลิ่นหอม ทางลิ้นต้องการรสอร่อย ทางกายต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย แม้แต่ในห้องนี้ เราก็ต้องการอากาศที่เย็นๆ สบายๆ เก้าอี้นุ่มๆ ไม่แข็งเกินไป นี่ก็เป็นความต้องการทางกาย ทางใจก็ยังต้องการเรื่องสนุกสนาน ดูทีวี ดูละคร คิดนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้
นี่แสดงให้เห็นว่าเรามีแต่ความต้องการทั้งนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่อง คำ เช่นคำว่า สงบ หรือแม้แต่คำว่า นิพพาน ยังไม่ทันรู้เลยว่าแปลว่าอะไร อยากจะได้เสียแล้ว อยากจะทำเสียแล้ว อยากจะถึงเสียแล้ว แล้วอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้อย่างไร แต่ว่านี่เป็นโลภะในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุว่าโลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล ต้องการอยากจะได้ผลของกุศล อยากจะเป็นคนดี นั่นก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้วต้องรู้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้ากำลังโกรธ สภาพที่โกรธมีจริงๆ ปัญญาสามารถที่จะเห็นความกระด้างของจิตใจในขณะที่โกรธ แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และก็มีกิจหน้าที่ ที่จะกระทำตามกำลังของความโกรธนั้น ว่าโกรธมากหรือโกรธน้อยอย่างไร
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นแม้แต่คำว่า สมถะหรือวิปัสสนา ขอให้มีปัญญาเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งทำ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจแล้ว ทำไม่ได้ สมถะคือสงบจากอกุศลทุกประเภท วิปัสสนาคือปัญญาที่เห็นแจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริงในขณะนี้
ไฟล์เสียงเดียวกัน
๓๖๒๗ สมถะ สมาธิ วิปัสสนา อยู่ในข้อปฏิบัติธรรมไหม