ปัตตกัมมสูตร ๑
สำหรับในเรื่องของทาน บางท่านก็อาจจะคิดว่า พระอริยสาวกนั้นจะดำเนิน ชีวิตอย่างไร จะมีจิตใจอย่างไร จะมีการให้มากน้อยกว่าปุถุชนอย่างไร
ขอกล่าวถึงพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปัตตกรรมวรรคที่ ๒ ปัตตกัมมสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ทุกท่านที่ทำมาหาเลี้ยงชีพก็ปรารถนาให้โภคะเกิดขึ้นโดยทางธรรม ผู้ที่เจริญสติกับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปรารถนาอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าปรารถนาเฉพาะผู้ที่ไม่เจริญสติ ส่วนผู้ที่เจริญสตินั้นไม่ปรารถนาเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เจริญสติหรือว่าผู้ที่ไม่เจริญสติก็ตาม ยังคงมีความปรารถนา ขอให้โภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม เพราะฉะนั้น การเจริญสติเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ธรรมประการต่อไปที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก คือ
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เรา พร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
เมื่อได้โภคะโดยทางธรรมแล้ว ความปรารถนาไม่สิ้นสุด ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เรา พร้อมด้วยญาติ และมิตรสหาย
ยศมี ๓ อย่าง คือ อิสริยยศ เกียรติยศ บริวารยศ
ทุกท่านไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เมื่อท่านอยู่กับบุคคลอื่น ก็ย่อมจะต้องการมีความรู้สึกว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่ต้องการได้รับการยกย่อง การเคารพนับถือ บางคนก็ต้องการตำแหน่งหน้าที่ เกียรติยศ เป็นยศศักดิ์ต่างๆ เป็นอิสริยยศ แต่บางคนก็ต้องการความเคารพนับถือยกย่องในคุณความดีจากบุคคลอื่นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีคุณความดี น่าเคารพ น่านับถือ นั่นก็เป็นเกียรติยศ นอกจากนั้นยังมีความต้องการบริวารยศ ผู้ที่จะอำนวยความสะดวก มีผู้ที่ช่วยเหลือรับใช้กระทำกิจการงานธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าท่านจะไปในสถานที่ใด หรือว่ามีธุระการงานที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ท่านก็ต้องการที่จะให้มีผู้ที่อำนวยความสะดวกให้ มีความต้องการในบริวารยศ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติกับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าเป็นเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ ส่วนผู้ที่เจริญสติไม่เป็นอย่างนี้ แม้ผู้ที่เจริญสติก็เป็นอย่างนี้ กำลังเจริญสติเพื่อละกิเลส เพื่อละอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น มีความต่างอะไรกันระหว่างบุคคลผู้ที่ไม่ได้เจริญสติกับบุคคลที่เจริญสติ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติก็ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมชนิดใดเกิด สภาพธรรมชนิดนั้นก็เกิดขึ้น และหนทางที่จะละอกุศลธรรมทั้งปวงได้ มีทางเดียวจริงๆ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะเกิดความปรารถนาในเกียรติยศ ในบริวารยศ หรือว่าในอิสริยยศขณะใด สติก็จะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สภาพธรรมทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และน่าปรารถนาจริงๆ หรือเปล่า อย่างบริวารยศ ต้องการให้มีใครช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ไหม เวลาที่ท่านมีกิจธุระที่จะต้องกระทำ
ข้อความต่อไปซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ประการที่ ๓ คือ
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมทั้งญาติและมิตรสหายแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ถ้ามีโภคะ มียศ พร้อมด้วยญาติมิตรสหายแล้ว อยากจะจากไปไหม ไม่ได้คิดอยากจะจากไปเลย ยังคงต้องการอยู่เรื่อยๆ ความต้องการไม่หมดเลย ถึงมีแล้วก็ยังอยากที่จะมีชีวิตอยู่นานๆ ไม่อยากจะจากสิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจนั้นไป
สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานกับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเหมือนกันไหม ไม่ต่างกันเลย อย่าไปคิดแยก คิดว่า ขณะนี้ท่านกำลังเจริญสติปัฏฐานไม่อยากอะไรทั้งนั้น เลิกหมดแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส โภคะ ญาติมิตร อะไรต่างๆ จนกระทั่งแม้แต่ชีวิต นั่นไม่ใช่ความจริง ความจริง คือ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่เจริญสติหรือว่าท่านไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ตาม ท่านยังคงมีความปรารถนาในธรรมที่น่าปรารถนา ถึงท่านไม่อยากจะจากญาติหรือมิตรสหาย พร้อมทั้งโภคะและยศไป แต่ท่านต้องจากแน่ เมื่อไรๆ ก็จะต้องจาก จะทำอย่างไรดี ก็จะต้องเจริญสติเพื่อที่จะดับการที่จะต้องจากญาติ มิตร ยศ โภคะต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นสมุจเฉท
ธรรมประการที่ ๔ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลกนั้น คือ
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นาน เป็นผู้ที่มีอายุยืนนานด้วย และทุกท่านทราบว่า ท่านจะต้องสิ้นชีวิต จะต้องจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้น อะไรเป็นความปรารถนาอีก ก็คือ ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
จะต้องไปแน่ เมื่อไรไม่ทราบ วันไหนไม่ทราบ แต่อยากจะไปที่ไหน สุคติโลกสวรรค์นี้แน่นอนที่สุด ไปได้ไหม ทราบได้ไหม ทราบไม่ได้ เหมือนกับการที่ท่านได้เกิดมาแล้ว มีชีวิตเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ชาติก่อนทราบไหมว่า จะต้องมาเกิดในโลกนี้ มีชีวิตอย่างนี้ เป็นบุคคลนี้ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านสิ้นชีวิตลง ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้แน่นอนว่า ท่านจะไปเกิดที่ใด ในภพภูมิใด มีสุข มีทุกข์อย่างไร นอกจากท่านจะเป็นพระอริยบุคคล ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิแน่นอน แต่ถ้ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะทราบได้เลยว่า แม้ท่านปรารถนาที่จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ แต่จะไปได้หรือไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับกรรม