เขตตูปมาเปตวัตถุ ความประมาทพลิกชีวิต


    ความประมาทย่อมพลิกชีวิตจากความเจริญไปสู่ความเสื่อมได้ จากการเป็นมนุษย์ ในชาตินี้ไปสู่การเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นสัตว์ในนรก ซึ่งอาจจะเป็นพรุ่งนี้หรือเย็นนี้ย่อมได้ทั้งสิ้น ถ้ารู้อย่างนี้ จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

    อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุรควรรคที่ ๑ อรรถกถา เขตตูปมาเปตวัตถุ ที่ ๑ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภเปรตบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนั้นดังต่อไปนี้

    น่าพิจารณา เป็นบุตรเศรษฐีในชาตินี้ และเพียงระยะที่สั้นที่สุดที่เร็วยิ่งกว่ากระพริบตา ก็เป็นเปรตได้

    ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ ได้มีเศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจอย่างมากมาย สั่งสมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนหลายโกฏิ

    แต่ละคนในชาติหนึ่งๆ ทั้งที่ผ่านไปแล้ว ที่เคยเป็นอย่างนี้ หรือจะเป็นอย่างนี้ในชาติหน้าก็ได้ ผู้ที่มีโภคมาก มีทรัพย์มาก จะเห็นได้ว่า มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์ ที่น่าปลื้มใจมากมาย ถ้าเข้าไปในพระราชวังสักแห่งหนึ่งก็ย่อมจะมองเห็นสมบัติ เครื่องปลื้มใจ อุปกรณ์ต่างๆ ที่น่าดูน่าชมมาก หรือแม้แต่ในบ้านของเศรษฐีทั้งหลาย

    เศรษฐีนั้นมีบุตรคนเดียว น่ารัก น่าชอบใจ เมื่อบุตรนั้นรู้เดียงสา มารดาบิดาก็คิดว่า แม้ว่าบุตรของเราจะจ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไปวันละ ๑,๐๐๐ ทุกวัน แม้ถึงร้อยปี ทรัพย์ที่สั่งสมไว้นี้ก็ไม่หมดสิ้นไป

    ในสมัยโน้นเพียงพันเดียว แต่สมัยนี้ก็เพิ่มขึ้นไปอีกตามสภาพของเหตุการณ์ บางท่านแม้ว่าจะใช้ทรัพย์ถึงร้อยปี ทรัพย์นั้นก็ไม่หมดสิ้นไป

    ข้อความต่อไป

    จะประโยชน์อะไรด้วยการที่จะให้บุตรนี้ลำบากในการศึกษาวิชาการต่างๆ ขอให้บุตรนี้จงไม่ลำบากกาย และจิต บริโภคโภคสมบัติตามสบายเถิด

    นี่เป็นความเห็นของมารดาบิดาซึ่งไม่ให้บุตรศึกษาศิลปวิทยาใดๆ เลย

    เมื่อบุตรนั้นเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาได้นำหญิงสาวแรกรุ่นผู้สมบูรณ์ด้วยสกุลรูปร่างความเป็นสาว และความงาม ผู้เอิบอิ่มด้วยกามคุณ บ่ายหน้าออกจาก ธรรมสัญญา

    จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละคน แม้ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ก็ไม่สนใจ ในพระธรรมเลย ยังคงเพลิดเพลินในเรื่องของโลก เวลาที่ชักชวนในเรื่องฟังธรรม ก็ไม่สนใจ เป็นผู้ บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา แม้ในอดีตชาติโน้นๆ อาจจะเคย ได้ฟังพระธรรมมาบ้าง แต่ชาติใดก็ตามที่ไม่สนใจ และยังหลงอยู่ในความเพลิดเพลิน ชาตินั้นก็ บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา

    เขาอภิรมย์อยู่กับหญิงสาวนั้น ไม่ให้เกิดแม้ความคิดถึงธรรม ไม่มีความเอื้อเฟื้อในสมณพราหมณ์ และคนที่ควรเคารพ ห้อมล้อมด้วยพวกนักเลง กำหนัด ยินดี ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เป็นผู้มืดมนไปด้วยโมหะ ให้เวลาผ่านไป เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมลง เขาก็ให้สิ่งที่น่าปรารถนาแก่พวกนักรำนักร้องเป็นต้น ผลาญทรัพย์ ให้หมดสิ้นไป ไม่นานเท่าไรนักก็สิ้นเนื้อประดาตัว เที่ยวขอยืมเงินเลี้ยงชีพ เมื่อยืมหนี้ไม่ได้อีก และถูกพวกเจ้าหนี้ทวงถาม ก็ต้องให้ที่นา ที่สวน และเรือนเป็นต้นของตนแก่พวกเจ้าหนี้เหล่านั้น แล้วก็ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานกิน พักอยู่ที่ศาลาคนอนาถา ในพระนครนั้นนั่นแล

    คงจะมีเศรษฐีหลายคนที่ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ที่ยากไร้ถึงกับเป็นผู้ขอทาน แต่ชีวิตของคนหนึ่งที่กรรมยังไม่เป็นปัจจัยให้จบสิ้นชีวิตลง ก็ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปอีก คือ

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกโจรมาประชุมกัน และได้ชักชวนเขาว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเป็นอยู่ลำบากอย่างนี้ ท่านยังเป็นหนุ่มมีเรี่ยวแรงกำลังสมบูรณ์ เหตุไฉนจึง อยู่เหมือนคนที่มือเท้าพิกลพิการ มาร่วมกับพวกเราเที่ยวปล้นทรัพย์ของชาวบ้าน และจะได้อยู่สบายๆ

    ชายคนนั้นกล่าวว่า เขาไม่รู้วิธีโจรกรรม พวกโจรก็บอกว่า จะสอนให้ ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ทำตามคำของพวกโจรอย่างเดียวเท่านั้น ชายนั้นก็รับคำ แล้วได้ไปกับพวกโจรเหล่านั้น

    พวกโจรนั้นเมื่อไปกระทำโจรกรรม ก็ได้ใช้ให้เขายืนถือค้อนใหญ่ ตรงปากช่องทาง แล้วก็สอนว่า ถ้ามีคนมาทางนี้ ให้เอาค้อนทุบให้ตาย

    ชายคนนั้นเป็นคนที่บอดเขลา ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เมื่อสั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เขาก็ได้แต่ยืนดูทางที่ตรงปากทางนั้นอย่างเดียว

    เมื่อพวกโจรเข้าไปทำโจรกรรมในเรือนนั้นแล้ว ก็ถือเอาสิ่งของที่ควรจะถือ เอาไปด้วย เมื่อพวกคนในเรือนรู้ตัว พวกโจรพากันหนีไปคนละทิศคนละทาง คนในเรือนนั้นก็พากันวิ่งตามจับ เมื่อเห็นชายคนนั้นยืนอยู่ตรงช่องประตูก็ช่วยกันจับไว้ และได้นำไปกราบทูลพระราชาว่า จับโจรคนนี้ได้ที่ปากทางประตู

    พระราชาทรงมีพระบัญชาให้ผู้รักษาพระนครลงโทษตัดศีรษะเขา ผู้รักษา พระนครรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ก็ให้จับชายคนนั้นมัดไพล่หลังอย่างมั่นคง และคล้องคอด้วยพวกมาลัยสีแดงห่างๆ ศีรษะของเขาก็เปรอะเปื้อนด้วยผงอิฐ ผู้รักษาพระนครให้ตีกลองพาเขาตระเวนประจานโทษ จากทางรถบรรจบทางรถ จากทางสี่แพร่งบรรจบทางสี่แพร่ง แล้วให้เฆี่ยนด้วยหวาย แล้วก็ได้นำตัวไปสู่ที่ประหารชีวิต ประชาชนก็พากันแตกตื่นมาดู

    สมัยนั้น ในพระนครนั้นมีหญิงงามเมืองคนหนึ่ง ชื่อสุลสา ยืนอยู่ที่ปราสาทมองออกไปทางช่องทางต่าง เห็นชายคนนั้นถูกนำตัวไปยังที่ประหารชีวิต เธอเคยถูกชายผู้นั้นบำเรอมาในกาลก่อนก็เกิดความสงสารว่า ชายคนนี้เคยเสวยสมบัติ เป็นอันมากในพระนครนี้เอง บัดนี้ถึงความพินาศวอดวายถึงเพียงนี้ จึงส่งขนมต้ม ๔ ลูก และน้ำดื่มไปให้ และได้แจ้งให้ผู้รักษาพระนครทราบว่า ขอให้เขากินขนมต้ม และดื่มน้ำเสียก่อน แล้วจึงประหารชีวิต

    ขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะตรวจดูด้วยทิพยจักษุ เห็นชายคนนั้นจะถูกประหารชีวิต ท่านจึงคิดด้วยความกรุณาว่า ชายคนนี้ไม่เคยทำบุญ ทำแต่บาป เพราะฉะนั้น เขาจะเกิดในนรก แต่เมื่อท่านไป และเขาถวายขนมต้ม และน้ำดื่มแก่ท่าน เขาก็จะเกิดเป็นภุมมเทวดา ดังนั้น ท่านก็ได้ไปปรากฏข้างหน้าของชายผู้นั้น ในขณะที่มีคนนำน้ำดื่ม และขนมต้มเข้าไปให้เขา

    เมื่อเขาเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะก็มีจิตเลื่อมใสคิดว่า เราผู้จะถูก คนเหล่านี้ฆ่าในบัดนี้เอง จะมีประโยชน์อะไรที่จะบริโภคขนมต้มนี้ ก็ผลทานนี้จะเป็นเสบียงสำหรับคนไปสู่ปรโลก ดังนั้น เขาจึงได้ถวายขนมต้ม และน้ำดื่มแก่ท่านพระเถระ และเพื่อที่จะเจริญความเลื่อมใสของชายผู้นั้น เมื่อชายผู้นั้นกำลังดูอยู่นั่นเอง ท่านพระเถระก็ได้นั่งในที่นั้น ฉันขนมต้ม และน้ำดื่ม แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป และชายผู้นั้นก็ถูกเพชฌฆาตตัดศีรษะ

    ด้วยบุญที่เขาทำไว้ในท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าเขาควรจะเกิดในเทวโลกชั้นเยี่ยม แต่เพราะเหตุที่เขามีจิตเศร้าหมองในเวลา ใกล้จะตาย เพราะคิดถึงด้วยความผูกพันในนางสุลสาซึ่งเป็นผู้ที่ให้เขาได้มีโอกาส ถวายไทยธรรม เขาก็ได้เกิดเป็นรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ มีร่มเงาอันสนิท อันเกิด แทบภูเขา

    อาจารย์บางพวกกล่าวว่า

    ได้ยินว่า ถ้าในปฐมวัยเขาจะได้ขวนขวายในการดำรงวงศ์ตระกูลไซร้ เขาจะเป็นผู้เลิศกว่าเศรษฐีทั้งหลายในพระนครนี้เอง ถ้าขวนขวายในมัชฌิมวัย เขาจะเป็นเศรษฐีวัยกลางคน ถ้าขวนขวายในปัจฉิมวัย เขาก็จะเป็นเศรษฐีในวัยสุดท้าย แต่ถ้าในปฐมวัยเขาจักได้บวชไซร้ เขาก็จะได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าบวชในมัชฌิมวัย เขาก็จะได้เป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามี ถ้าบวชในปัจฉิมวัย เขาก็จะได้เป็นพระโสดาบัน แต่เพราะเขาคลุกคลีด้วยปาปมิตร เขาจึงเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา ยินดีแต่ในทุจริต เป็นคนไม่เอื้อเฟื้อ เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง ถึงความย่อยยับ อย่างใหญ่หลวง โดยลำดับ

    นี่ก็เป็นผู้ที่ประมาทในชีวิตในการเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ความประมาทนั้นเองพลิกชีวิตจากการเป็นเศรษฐี หรือจากการที่จะเป็นพระอริยเจ้า สู่ความเป็นรุกขเทวดาหลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760


    หมายเลข 4030
    23 พ.ย. 2567