ก่อนการตรัสรู้นั้นโลกมืด มืดด้วยอวิชชา
ก่อนการตรัสรู้นั้นโลกมืด มืดด้วยอวิชชา เพราะแม้สภาพธรรมปรากฏแต่ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงประกาศพระอริยสัจจธรรม ความสว่างด้วยปัญญาคือการสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดขึ้นในโลก แต่เฉพาะในพุทธบริษัท ตามข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ซึ่งอุปมาว่า
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น
แต่ไม่ใช่ทั้งโลก เฉพาะโลกของแต่ละบุคคล คือ บุคคลใดที่ฟัง พิจารณา เข้าใจ อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บุคคลนั้นก็เหมือนโลกที่เอิบอิ่ม ด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น บุคคลผู้นั้นก็สามารถขจัดความมืดออกได้
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ พระธรรมดังกล่าวเปรียบเหมือนข่ายรัศมีของดวงอาทิตย์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่ดวงอาทิตย์นั้น กำจัดมืดแล้ว
บางครั้งเปรียบพระผู้มีพระภาคเหมือนพระจันทร์ บางครั้งเปรียบเหมือน พระอาทิตย์ ซึ่งความหมายก็คือความสว่าง การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนคนเผาป่า (ป่าคือกิเลส) พระธรรมเปรียบเหมือนไฟ เครื่องเผาป่า พระสงฆ์ที่เป็นบุญเขตเพราะเผากิเลสได้แล้ว เปรียบเหมือนภูมิภาค ที่เป็นเขตนาเพราะเผาป่าเสียแล้ว
ถ้าพิจารณาตามไปจะเห็นความจริงว่า ทุกคนที่ยังมีกิเลสไม่สามารถดับกิเลสได้ ถ้าไม่มีพระธรรมซึ่งเป็นเครื่องเผาป่าคือกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น ก็มีข้ออุปมา หลายอย่างที่เป็นพระคุณต่างๆ ของพระรัตนตรัย
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเมฆฝนใหญ่ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝน พระสงฆ์ผู้ระงับละอองกิเลสเปรียบเหมือนชนบทที่ระงับละอองฝุ่นเพราะฝนตก
ฝุ่นเยอะมาก จะระงับไปได้ก็เพราะฝนที่เกิดจากเมฆใหญ่ เพราะฉะนั้น กิเลส คือ ฝุ่นของแต่ละคนที่ยังไม่ได้ระงับ วันหนึ่งก็ฟุ้งไปต่างๆ นานา แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทไหน
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายฝึก ม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบเหมือนฝูงม้าอาชาไนยที่ฝึกมาดีแล้ว
ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม กาย วาจา ใจของผู้นั้น ก็สงบจากกิเลสขึ้น ซึ่งผู้นั้นเองจะรู้สึกตัวว่าเป็นผู้ที่ฝึกแล้ว แต่ฝึกโดยใคร ก็ฝึกโดย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสำหรับฝึกตนจริงๆ
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนศัลยแพทย์เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิได้หมด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายที่ถอนลูกศรออกได้ พระสงฆ์ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิ ออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว
การฟังพระธรรม ก็เพื่อพิจารณาเข้าใจสภาพของตนเอง ซึ่งกำลังมีลูกศรเสียบ เป็นทุกข์มากเพราะอวิชชา เพราะอกุศลทั้งหลาย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ และ อกุศลอื่นๆ เกิดขึ้นขณะใด เป็นทุกข์ขณะนั้น เหมือนถูกเสียบด้วยลูกศร เพราะฉะนั้น การที่จะถอนลูกศรคือทิฏฐิ ต้องอาศัยพระธรรมเป็นทางที่จะถอนลูกศร ซึ่งพระสงฆ์ ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนจักษุแพทย์เพราะทรงลอกพื้นชั้นโมหะออกได้แล้ว พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องลอกพื้นของตา พระสงฆ์ผู้มีพื้นชั้นตาอันลอกแล้ว ผู้มีดวงตาคือญาณอันสดใส เปรียบเหมือนชนที่ลอกพื้นตาแล้วมีดวงตาสดใส
คนที่เป็นต้อคงจะเห็นได้ชัดว่า มองไม่ชัด และพร่ามัวไปหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาไม่เกิด ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่เมื่อใด มีตาคือญาณอันสดใส ขณะนั้นก็จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาดเพราะทรงสามารถกำจัดพยาธิ คือกิเลสพร้อมทั้งอนุสัยออกได้ พระธรรมเปรียบเหมือนเภสัชยาที่ทรงปรุงถูกต้องแล้ว พระสงฆ์ผู้มีพยาธิคือกิเลส และอนุสัยอันระงับแล้ว เปรียบเหมือนหมู่ชนที่พยาธิ ระงับแล้วเพราะใช้ยา
กำลังป่วยไข้กันอยู่ แต่เดินเหินได้ตามปกติ เพราะเป็นโรคใจ ไม่ใช่โรคทางกาย และยาที่จะรักษาโรคทุกโรคของใจ ก็ต้องเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง และผู้นั้นศึกษาเข้าใจสามารถที่จะรักษาจิตใจของตนเองได้
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนทางดีหรือพื้นที่ ที่ปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนผู้เดินทางถึงที่ที่ปลอดภัย
ขณะนี้ทุกคนมีอันตรายรอบข้าง อาจจะคิดว่าเป็นอันตรายจากโจร จากผู้ร้าย จากคนที่ไม่หวังดี แต่บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถทำร้ายใจของท่านได้ อย่างมากที่สุด ที่จะทำร้ายได้คือทำร้ายกาย ทำร้ายทรัพย์สมบัติ แต่สำหรับจิตใจนั้นต้องเป็นกิเลส ของท่านเอง เพราะฉะนั้น ทุกคนกำลังอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย แล้วแต่ว่าขณะใดกิเลส จะเกิดขึ้นทำร้ายเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเห็นได้ว่า ที่ที่อยู่ไม่ปลอดภัยเลย
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนนายเรือที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนเรือ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนที่เดินทางถึงฝั่ง
ขณะนี้ก็เหมือนกับว่ากำลังอยู่ในหนทางที่จะไปสู่ฝั่ง แล้วแต่ว่าจะถึงเมื่อไร สำหรับผู้ที่ศึกษาแล้วก็มีความเข้าใจ และกำลังค่อยๆ เดินทางไปถึงฝั่ง แต่ต้องขึ้นเรือที่มีทิศทางที่ดี คือ พระธรรม
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนป่าหิมพานต์ พระธรรมเปรียบเหมือนโอสถยา ที่เกิดขึ้นที่ป่าหิมพานต์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนที่ไม่มีโรคเพราะใช้ยา
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ประทานทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ พระสงฆ์ผู้ได้อริยทรัพย์มาโดยชอบเปรียบเหมือนชนผู้ได้ทรัพย์ตามที่ประสงค์
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์
พระพุทธเจ้าผู้เป็นวีรบุรุษเปรียบเหมือนผู้ประทานความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบเหมือนไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ล่วงภัยทุกอย่างเปรียบเหมือนชนผู้ถึงความไม่มีภัย
ถ้าท่านที่กำลังมีทุกข์โศก
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ปลอบ พระธรรมเปรียบเหมือนการปลอบ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ถูกปลอบ
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนคำสอนที่เป็น หิตประโยชน์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ประสบประโยชน์ตนเพราะประกอบ หิตประโยชน์
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบ่อเกิดทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ ที่เป็นสาระ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ใช้ทรัพย์ที่เป็นสาระ
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ทรงสรงสนานพระราชกุมาร พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำที่สนานตลอดพระเศียร พระสงฆ์ผู้สรงสนานดีแล้วด้วยน้ำคือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนหมู่พระราชกุมารที่สรงสนานดีแล้ว
ถ้ามีความสกปรกเพราะกิเลสก็ต้องชำระล้าง และสิ่งที่จะชำระให้สะอาดก็คือพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องชำระด้วยพระธรรมกันไปเรื่อยๆ
ท่านที่ชอบเครื่องตกแต่งก็มีคำอุปมาว่า
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช่างผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบเหมือนเครื่องประดับ พระสงฆ์ผู้ประดับด้วยพระสัทธรรมเปรียบเหมือนพระราชโอรส ผู้ทรงประดับแล้ว
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นจันทน์ พระธรรมเปรียบเหมือนกลิ่นอันเกิดจาก ต้นจันทน์นั้น พระสงฆ์ผู้ระงับความเร่าร้อนได้สิ้นเชิงเพราะพระสัทธรรมเปรียบเหมือน ชนผู้ระงับความร้อนเพราะใช้จันทน์
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบิดาผู้มอบมรดก พระธรรมเปรียบเหมือนมรดก พระสงฆ์ผู้สืบมรดกคือพระสัทธรรมเปรียบเหมือนพวกบุตรผู้สืบมรดก
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดอกปทุมที่บาน พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำ ที่เกิดจากดอกปทุมที่บานนั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกินน้ำนั้น
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1899
ที่กล่าวถึงพระรัตนตรัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงโลกที่มืดเมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพราะไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แม้ในครั้งพุทธกาลโลกก็สว่างเฉพาะพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งลักษณะของ สภาพธรรม และอริยสัจจธรรม
ที่มา ...