ตุณฑิลชาดก ผู้ที่กลัวตายมาก
ในอรรถกถา ขุททกนิกาย ฉักกนิบาตชาดก ขุรปุตตวรรค ตุณฑิลชาดก
มีข้อความว่า ที่พระวิหารเชตวัน มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่กลัวตายมากเหลือเกิน แม้แต่ได้ยินใบไม้ร่วง หรือเสียงอะไรตก หรือเสียงสัตว์ร้องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สะดุ้งหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์ ความกลัวตาย แม้แต่ได้ยินเสียงเบาๆ หรือเสียงอะไรตก ก็ตกใจ กลัวว่าจะเป็นเหตุที่จะต้องตาย จนกระทั่งเป็นที่เลื่องลือไปทั่วพระวิหารเชตวัน
พระภิกษุทั้งหลายก็ประชุมสนทนาธรรมกันว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นผู้ที่กลัวต่อความตาย จนกระทั่งได้ยินเสียงอะไรก็ตกใจ สะดุ้งหวาดกลัว อยู่ไม่เป็นสุข ไปไหนก็ไม่เป็นสุข ทั้งกลางคืน กลางวัน ก็มีความกลัวอยู่เป็นปรกติธรรมดา
วันนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาสู่โรงธรรมสภา ที่พระภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องพระภิกษุผู้กลัวความตายนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ท่านพระภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า ภิกษุรูปนี้เป็นผู้ที่มีความกลัว ไม่ใช่ในเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเป็นผู้ที่กลัวตายยิ่งนัก ดังนี้ แล้วพระองค์ก็ได้ทรงนำอดีตนิทาน คือ ความเป็นมาในอดีตชาติก่อนๆ ของภิกษุรูปนั้น เล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในอดีตกาลนานมาแล้ว นานจนแสนนานมานั้น ในเมืองพาราณสี มีหญิงคนหนึ่ง เป็นคนทำไร่ฝ้าย เวลาไปไร่ก็ใช้ไม้เท้ายันกายไปตามปกติเป็นนิตย์ วันหนึ่ง ขณะที่กลับจากไร่ฝ้าย ผ่านป่าละเมาะ ก็ใช้ไม้เท้าที่สำหรับยันนำทาง ทุบๆ ตีๆ เหวี่ยงๆ ไปข้างทาง ครั้งนั้นมีแม่หมูตัวหนึ่ง กำลังออกลูกอยู่ที่ใกล้ทางนั้น พอได้ยินเสียงไม้เท้าของนาง ก็ตกใจหนีไป ทิ้งลูกหมูไว้สองตัว พอหญิงนั้นเห็นลูกหมูเข้า ก็เกิดความรักใคร่สงสาร และรู้ว่าแม่ของลูกหมูนั้นหนีไปแล้ว ก็เอาลูกหมูทั้งสองตัวมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน และตั้งชื่อลูกหมูตัวโตว่า มหาตุณฑิละ ให้ชื่อลูกหมูตัวเล็กว่า จุฬตุณฑิละ เมื่อเลี้ยงไปนานๆ ก็มีความรักใคร่ในลูกหมูนั้นมากเหมือนกับรักลูกของตัวเอง อุตส่าห์พยายามเลี้ยงดูลูกหมูเหมือนอย่างเลี้ยงดูบุตร แต่ว่านางรักลูกหมูตัวโตมากกว่าลูกหมูตัวเล็ก ต่อมาลูกหมูนั้นก็โตขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น ในครั้งนั้นมีพวกบุรุษอันธพาลชอบบริโภคเนื้อหมู ไม่รู้ว่าจะไปหาเนื้อหมูที่ไหนมาบริโภค จึงพยายามขอซื้อลูกหมูจากหญิงชราผู้นั้น หญิงนั้นก็กล่าวว่า จะขายให้ท่านไม่ได้เพราะเรารักลูกหมูทั้งสองตัวนี้เหมือนบุตรของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะขายลูกของตัวเองไม่ได้เป็นอันขาด
พวกบุรุษอันธพาลนั้นก็ไม่ท้อถอย พยายามตีราคาลูกหมูนั้นให้มากขึ้นอีก หญิงนั้นก็ยังไม่ยอมขายให้ พวกบุรุษอันธพาลก็คิดอุบายว่าควรที่จะมอมเหล้าหญิงผู้นั้น แล้วขอซื้อในภายหลัง จึงจัดแจงเอาสุรามาเลี้ยงกันต่อหน้าหญิงนั้น แล้วชักชวนให้หญิงนั้นดื่มสุรามากขึ้นๆ จนกระทั่งเมา
พอหญิงนั้นเมาก็ขอซื้อลูกหมู ซึ่งขณะเมาทำให้หญิงนั้นลืมความรักใคร่ลูกหมูชั่วระยะหนึ่ง และรับปากว่าจะขายให้ แต่ว่าจะขายตัวเล็กให้ ตัวใหญ่ไม่ขาย เมื่อตกลงกันแล้วหญิงนั้นก็เอาอาหารที่ดีๆ เข้าไปให้หมูตัวเล็กกิน แล้วเรียกให้มาหา ซึ่งลูกหมูก็ตกใจ เพราะไม่เคยเห็นกิริยาอาการอย่างนี้มาก่อน
ข้อความในตุณฑิลชาดก มีว่า ลูกหมูที่ชื่อว่า จุฬตุณฑิละ กล่าวว่า วันนี้มารดาให้ข้าวที่เทลงใหม่ๆ รางข้าวก็เต็ม มารดาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ รางข้าวนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีคนเป็นอันมากยืนถือบ่วงอยู่ ฉันไม่พอใจจะบริโภคข้าวนั้นเลย
ตามธรรมดาเวลาให้ข้าวลูกหมูกิน หญิงนั้นจะให้ลูกหมูตัวโตกินก่อน เพราะรักลูกหมูตัวโตมากกว่า แต่วันนั้นลูกหมูตัวเล็กแปลกใจ เพราะแทนที่จะให้ลูกหมูตัวโตกินก่อน กลับเอาอาหารให้ลูกหมูตัวเล็ก และมีคนยืนล้อมรอบ และถือบ่วง ลูกหมูตัวเล็กจึงวิ่งไปหาลูกหมูตัวโต แล้วแสดงอาการตกใจ ซึ่งมหาตุณฑิละก็กล่าวปลอบว่า เจ้าสะดุ้งกลัวภัย หมุนไปมาปรารถนาที่ซ่อนเร้น เป็นผู้ไร้ที่พึ่ง จะไปไหนเล่า ดูกรน้องตุณฑิละเจ้าจงมีความขวนขวายน้อยบริโภคอาหารเสียเถิด เราทั้งสองมารดาเลี้ยงไว้ ก็เพื่อต้องการเนื้อ
ไม่ต้องท่องอะไร แต่ว่าไม่ตกใจ และรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเกิดเมตตาก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะพูดไม่ว่าจะคิด ก็เป็นการพูดการคิดในทางที่เป็นกุศล ในทางเกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ไม่จำเป็นต้องท่องเป็นคำ
มหาตุณฑิละได้กล่าวปลอบลูกหมูตัวเล็กว่า บรรดาผู้ที่เลี้ยงสุกรทั้งหลาย ก็มีวัตถุประสงค์อยู่เพียงแค่นี้ คือ เลี้ยงเพื่อที่ต้องการจะขายเนื้อให้แก่คนอื่นเท่านั้น และกล่าวปลอบต่อไปว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ที่จะไม่ตายนั้นไม่มีเลย แม้จะเป็นสัตว์มีเนื้อหรือไม่มีเนื้อ ที่เป็นที่บริโภคของผู้อื่นได้หรือไม่ได้ ก็จะต้องตายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเจ้าจงอย่ากลัวตาย วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องตาย เจ้าจงอย่าสะดุ้งตกใจกลัวเลย แม้เราจะไม่มีที่พึ่งอื่น มารดาของเราซึ่งเป็นที่พึ่งมาแต่วันก่อน มาวันนี้ก็พึ่งไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเจ้าจงอย่ากลัว จงเป็นผู้ที่อาบน้ำใสสะอาด ล้างเหงื่อไคลเสียให้เรียบร้อย แล้วใช้เครื่องหอมลูบไล้ให้สะอาดหอมหวนเช่นนี้ เมื่อจะตายก็ตายอย่างมีความดี เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร ดังนี้
ข้อความในพระไตรปิฎก มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า เจ้าจงหยั่งลงในห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม แล้วชำระเหงื่อ และมลทินทั้งปวงเสีย จงถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ เถิด
คนที่อยู่ล้อมรอบพอเห็นอาการของลูกหมูสองตัวว่า ตัวหนึ่งกลัวตายแต่อีกตัวหนึ่งไม่กลัว และปลอบลูกหมูตัวเล็ก ทำให้ทุกคนรวมทั้งหญิงชราเกิดความสงสาร และความมึนเมาก็หายไป ความเมตตากรุณาก็เกิดขึ้น บุรุษทั้งหลายเหล่านั้นที่คอยจะมาจับลูกหมู ก็ทิ้งบ่วง และไม่ต้องการที่จะซื้อลูกหมูนั้น ลูกหมูก็ปลอดภัยด้วยประการฉะนี้
บุรุษพวกนั้นต้องท่องหรือเปล่า ไม่จำเป็นเลยทำอะไรก็ได้ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ขอให้เป็นผู้ที่สามารถที่เมตตาจะเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องท่อง
ก่อนที่ลูกหมูทั้งสองจะปลอดภัย จุฬตุณฑิละได้ถาม มหาตุณฑิละว่า อะไรหนอที่ท่านกล่าวว่าห้วงน้ำไม่มีเปือกตม อะไรเล่าท่านกล่าวว่าเหงื่อไคล และมลทิน และอะไรเล่าท่านกล่าวว่าเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ ไม่ใช่แต่ลูกหมูที่สกปรก ทุกคนมีเหงื่อไคล และมลทิน
มหาตุณฑิละกล่าวตอบว่า ธรรม บัณฑิตกล่าวว่าเป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม บาปธรรมบัณฑิตกล่าวว่าเหงื่อไคล และมลทิน และศีลบัณฑิตกล่าวว่าเป็นเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหาย ในกาลไหนๆ
ธรรมทั้งหมดที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมเป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม เพราะสามารถที่จะชำระขัดล้างบาปธรรมซึ่งเป็นเหงื่อไคล และมลทินออกได้ และศีลย่อมเป็นเครื่องลูบไล้ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหาย ไม่เป็นที่รังเกียจของใครเลย ใครที่มีศีลอยู่ใกล้ใคร จะไม่มีบุคคลใดรังเกียจ
มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า มนุษย์ทั้งหลายผู้โง่เขลา เวลาอกุศลเกิด ทุกคนเป็นผู้โง่เขลา ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายผู้โง่เขลาฆ่าตัวเอง ขณะใดที่ฆ่าคนอื่น ขณะนั้นอย่าลืมว่าฆ่าตัวเองด้วย และฆ่าตัวเองก่อนด้วยอกุศลเจตนาที่จะฆ่าบุคคลอื่น เป็นบาปธรรมที่ประทุษร้ายบุคคลนั้น เป็นอกุศลธรรมที่ฆ่าบุคคลนั้น ในขณะที่เข้าใจว่า สามารถที่จะฆ่าบุคคลอื่นได้ ฉันใด เวลาที่คิดว่าจะโกรธบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรมที่เบียดเบียนคนโกรธหรือคนที่คิดอย่างนั้น
มนุษย์ทั้งหลายผู้โง่เขลาฆ่าตัวเองย่อมพอใจทำบาป ส่วนสัตว์ผู้รักษาตัว ย่อมไม่พอใจทำบาป สัตว์ทั้งหลายรื่นเริงในเดือนมีพระจันทร์เต็มดวง ย่อมสละชีวิตได้
จบ จุฬตุณฑิละชาดกที่ 3
และเมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่านิทาน คือความเป็นมาในอดีตชาติของพระภิกษุผู้กลัวตายรูปนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า มหาตุณฑิละในครั้งนั้นก็คือตถาคตผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และจุฬตุณฑิละในครั้งนั้น ก็คือภิกษุผู้ที่กลัวต่อความตายรูปนี้
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม ...
ตุณฑิลชาดก วาดวยธรรมเหมือนน้ํา บาปธรรมเหมือนเหงื่อไคล และ อรรถกถา