ปรมัตถธรรมเท่านั้นทีมีสภาพจริงแม้ไม่เรียกชื่อ
ท่านอาจารย์ ขณะที่หลับตา เอาอะไรดีที่ปรากฏ แล้วแต่ความเป็นจริง เสียง ไม่เรียกเสียงได้ไหม ได้ เรียกอย่างอื่นได้ไหม ก็ได้ เปลี่ยนลักษณะของเสียงให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริง แม้ไม่เรียกชื่อใดๆ เลยก็ตาม ลักษณะนั้นต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่าง ซึ่งจะเรียกอะไรก็ได้ หรือไม่เรียกอะไรเลยก็ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แต่จำเป็นต้องใช้คำ เพื่อที่จะให้รู้ว่าหมายความถึงสภาพลักษณะใดๆ ที่กำลังกล่าวถึง แต่ยังไงก็ตามต้องรู้ว่า ขณะใดที่ใช้คำสำหรับให้เข้าใจหมายความถึงสภาพธรรมใด ไม่ใช่สภาพธรรมนั้นจริงๆ อย่างพูดคำว่าเสียง เสียงมีจริง แต่เวลาใช้คำที่จะให้เข้าใจความหมายนั้น ความคิดเรื่องคำ มี ทันทีที่ได้ยินคำว่า “เสียง” คิดถึงอะไรคะ
ผู้ฟัง คิดถึงชื่อที่อยู่ในเสียงนั้น จริงๆ ชื่อก็ไม่มีในเสียง
ท่านอาจารย์ บางคนก็ไม่ได้คิดใช่ไหมคะ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะอย่าง แต่คำที่ใช้ เป็นคำที่ทำให้คนที่จำเสียง สามารถที่จะรู้ว่าเสียงนั้นหมายความถึงอะไร แต่ต้องมีการจำเสียง คนที่ไม่ได้จำเสียงนั้น พูดภาษาญี่ปุ่นกับเขา ก็ไม่รู้เรื่อง เขาพูดมา เราก็ไม่รู้ว่าเขาหมายความถึงอะไร แต่เสียงไม่เปลี่ยน ไม่ว่าใครจะเป็นชนชาติอะไรก็ตาม ได้ยินคำภาษาอะไรก็ตาม ลักษณะของเสียงที่ได้ยินไม่เปลี่ยน แต่อาศัยความจำ ที่จำลักษณะของเสียงนั้น ทำให้สามารถคิดถึง และเข้าใจความหมายของเสียงนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏขณะนั้น จะไม่คิดถึงอย่างอื่น จะไม่จำอย่างอื่น แต่จะมีการจำเสียง
เพราะฉะนั้น การที่เราเริ่มเข้าใจปรมัตถธรรม เราต้องรู้ว่าปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ส่วนเรื่องราวความคิดนึกบัญญัติต่างๆ ในเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ นั้น ไม่ใช่ตัวจริงของธรรม ตัวจริงของธรรมก็จะมีเพียงจิต เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ เจตสิกเป็นสภาพนามธรรม ซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดกับจิต ชื่อเรียกภาษาธรรมก็คือ “เจตสิกะ” หรือเราก็ใช้สั้นๆ ว่า “เจตสิก” และรูป “ปรมัตถธรรม” มี จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่นิพพานในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครที่จะไปสามารถรู้ได้โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะสละความติดข้องในสิ่งที่มี เพื่อที่จะไปสู่สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งตั้งแต่เกิดมาก็ติดอย่างมากมาย ยึดถืออย่างมากมายที่จะไม่ปล่อย เมื่อไม่ปล่อยแล้วจะไปถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง ซึ่งเป็นนิพพาน สำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งแล้วก็ต้องเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่เราก็จะพูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ให้เป็นความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าจะคลายความติดข้อง ซึ่งลองคิดดู นานไหมกว่าจะคลายความติดข้องในสิ่งซึ่งติดมานานแสนนาน ติดในรูปทางตา ติดในเสียง ติดในกลิ่น ติดในรส ติดในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ติดในความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แล้วก็จะต้องละคลาย จนกว่าจะหมดความติดข้องในสังขารธรรม ในสังขตธรรมเมื่อไหร่ ก็จะน้อมไปสู่สภาพธรรมที่มีจริง คือนิพพาน
ที่มา ...