สภาพที่มีจริงสามารถจะพิสูจน์ได้ทุกขณะที่ตื่น


    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ครับ ทีแรกผมคิดว่าผมเข้าใจดีว่า จักขุปสาท หรือตามีลักษณะยังไง แต่เมื่อมาได้ฟังท่านอาจารย์แล้วก็รู้ว่านั่นเป็นเพียงการคาดคะเนเอาว่า คนนั้นไม่มีจักขุปสาท คนนี้มีแต่ว่ามืด มีไม่เต็มที่อะไรอย่างนี้ เป็นการเดา หรือคาดคะเนเอา ซึ่งไม่ถูกต้องตามลักษณะที่แท้จริงใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของความคิดนึก แต่สภาพธรรมที่มีจริงสามารถที่จะพิสูจน์ได้ทุกขณะ เวลาที่หลับสนิท จะยิ่งกว่ามืด หรือเปล่า เทียบได้เลย ใช่ไหม เพราะว่าไม่มีอะไรปรากฏให้เห็นว่ามืด หรือให้คิดว่ามืด เพราะเหตุว่าขณะนั้น แม้มีจิต เจตสิก ก็เหมือนไม่มี แต่ทำไมตื่นแล้วรู้ว่าเมื่อกี้หลับ ก็แสดงให้เห็นว่าสามารถที่จะจำภาวะ หรือขณะซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น ปัญญาของเราที่จะรู้ความจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นถึงความต่างของขณะที่เป็นภวังคจิต คือขณะที่หลับสนิท และขณะที่เป็นมโนทวารวิถี ต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะเหตุว่า กำลังหลับสนิทเป็นใครอยู่ที่ไหน ทราบไหม มีพี่น้องกี่คน เรื่องยุ่งๆ ตอนก่อนจะหลับ หายไปไหนหมด ในขณะที่กำลังหลับไม่มีเลยใช่ไหม แต่พอตื่นขึ้นแล้ว มีหมดทุกอย่าง มีเรื่องมีราวต่างๆ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องเทียบเคียง ความต่างของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าขณะที่หลับสนิทไม่ฝันเลย ไม่มีอะไรปรากฏ กับขณะที่แม้ตื่น แต่สิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏ แต่คิด ขณะนั้นก็ยังมีคิดในความมืดสนิทนั้น มีคิด ไม่มีแสงสว่าง ขณะที่คิด หลับตา พิสูจน์ได้เลย ตอนนี้ทางตาจะมาคั่น แล้วเราก็ยังคงคิดว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตานี่ ยังไม่ไหว ยังคิดไม่ออก ยังจำไว้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ จนกว่าเราจะค่อยๆ ไตร่ตรอง และพิจารณาว่า ในขณะที่คิด แม้ไม่เหมือนกับขณะที่หลับสนิท เพราะหลับสนิทนี่ไม่คิดเลย ไม่ฝันด้วย แต่เวลาตื่นก็ไม่ได้เห็น แต่ว่ามีคิด เพราะฉะนั้นความคิดตรงนั้นก็มืดสนิท แต่ก็ยังไม่เหมือนกับขณะที่อะไรๆ ไม่ปรากฏเลยในขณะที่หลับสนิท นี่ก็เป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงขณะที่เห็น นี่ก็ต่างกับขณะที่คิด ซึ่งคิดนี่มืดสนิท แต่เห็นนี่ไม่มืดเลย และขณะที่ได้ยินเสียงก็ยังมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏ จริงๆ แล้วให้อุ่นใจว่ายังมีเรา เห็นไหมคะ ความที่เราติดข้องในความเป็นตัวตน ในภพ ในชาติ ในเสียง ในทุกอย่าง กว่าจะค่อยๆ ขัดเกลาละคลาย แซะ จะทำวิธีไหนยังไง ใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่เป็นสิ่งที่ติดสนิท ต้องใช้กาลเวลาจริงๆ ที่อาศัยความเข้าใจขึ้นจากการฟังทีละเล็กทีละน้อย อบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นปัญญาของเราเอง ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมชาติไหนสามารถที่จะรู้ว่านี่คือพระธรรม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6


    หมายเลข 5006
    4 ก.ย. 2567