ปรมัตถธรรมมีจริงแม้ไม่ต้องเรียกชื่อ


    อ.วิชัย สิ่งที่ปรากฏทางตา ทำไมจึงต้องเฉพาะทางตาเท่านั้น ทำไมหูถึงไม่เห็น ทางกายไม่เห็น หรือแม้ทางลิ้นขณะที่จะรู้รสอาหาร แม้มือสัมผัสก็ไม่รู้รส แล้วทำไมจะต้องปรากฏรสเฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น นี่ก็เห็นถึงความอัศจรรย์ของสภาพธรรมนะครับ ท่านอาจารย์ ว่าจะต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่จะให้เกิดความรู้ทางด้านตาต่างๆ ด้วย เรียนถามท่านอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ เราก็ได้เข้าใจปรมัตถธรรมพอสังเขป หมายความถึงสิ่งที่มีจริงก็มีสภาพที่ต่างกันเป็นนามธรรมกับรูปธรรม แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ข้อสำคัญที่สุดคือธรรมนี่ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย ก็เป็นธรรมที่ใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นไม่ได้ แล้วก็สภาพที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วก็อะไรอีกที่เราควรจะรู้ เพราะเหตุว่าเราอยู่ในโลกของการไม่รู้ในลักษณะของจิต เจตสิก รูปเลย ไม่รู้ว่าเป็นจิต แต่คิดว่าเป็นเรา เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก ไม่รู้ว่าเป็นเจตสิก แต่เป็นเราสุข เราทุกข์ ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางกาย มีแต่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เราก็คิดว่าเรากำลังกระทบสัมผัสชื่อต่างๆ ตามวิชาการต่างๆ จะเป็นทางการแพทย์ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะคิดว่ากำลังจับปอด หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าความจริงรู้ไหมว่าขณะนั้น ลักษณะที่แข็ง แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไร ทำไมเราถึงเรียกชื่อต่างกัน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต่างกันอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เพราะความจำ ถ้าไม่มีความจำ ชื่อต่างๆ ก็ไม่มี ใช่ไหม เวลาที่เราคิดถึงคำว่าคน เราจะจำอย่างหนึ่ง และคิดอย่างหนึ่ง พอพูดถึงคำว่าแมว เราก็จะจำอีกอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง แม้เสียงจะเพียงสูงๆ ต่ำๆ แต่อาศัยความจำ ทำให้เรามีความคิด โดยที่เราไม่ได้รู้ตัวเลย ว่าขณะนั้นแท้ที่จริงแล้ว ต้องมีความคิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย

    เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ปรากฏเสมือนไม่ดับเลย ปรากฏเสมือนว่าสืบต่อจนกระทั่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าสภาพที่เกิดดับไม่ได้ปรากฏ แล้วก็การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ทำให้มีรูปร่างสัณฐาน มีความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ ทันทีที่เห็น จำได้เลย ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องพูดออกมาเป็นคำ รู้ทันทีว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าขณะใดก็ตาม ที่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ลักษณะของสภาพธรรมเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม แต่ความคิดนึกจากการจำ ขณะนั้นเรื่องราวต่างๆ ที่มี และก็เป็นสิ่งสำคัญเหลือเกิน ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่จิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรม เรื่องราว รูปร่างสัณฐาน ที่เราจดจำไว้ทั้งหมด เป็นแต่เพียงความทรงจำในเรื่องราวของสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมที่เคยเห็น

    เพราะฉะนั้นก็มีอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมก็คือบัญญัติ หมายถึงความคิดนึก รูปร่างสัณฐาน หรือว่าความทรงจำใดๆ ก็ตามทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่สภาวธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เรื่องนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่กำลังมีในขณะนี้ที่กำลังคิด จิตคิดถึงเรื่องราวความทรงจำของสิ่งที่เคยผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยังจำได้อยู่เป็นบัญญัติ เป็นแต่เพียงการคิดนึกถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง หรือเคยพบมาแล้วเท่านั้น อันนี้ถ้าเราใช้คำว่า “บัญญัติ” คืออะไร แล้วตอบไปง่ายๆ ก็เหมือนเราจะเข้าใจ แต่มาจากไหน ตรงไหน เมื่อไหร่ ขณะไหน จะทำให้เราเข้าใจขึ้น ว่าขณะนี้อะไรเป็นปรมัตถ์ และอะไรเป็นบัญญัติ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7


    หมายเลข 5088
    5 ก.ย. 2567