ธรรมมีจริงทุกๆ ขณะ แต่ปัญญายังไม่พอจะประจักษ์


    ซึ่งในคราวก่อน ได้กล่าวเรื่อง จิต เจตสิก รูป โดยนัยของขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นไปตามการยึดถือ สภาพธรรมแบ่งเป็นประเภทใหญ่ เป็น ๒ ประเภท คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ไม่สามารถที่จะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึกได้เลย ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นนามธรรม คือ สภาพที่กำลังมีอยู่ทุกขณะในขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังรู้สึกต่างๆ ธรรมไม่ได้อยู่ไกลตัว หรือนอกตัว แต่มีจริงทุกๆ ขณะ แม้ในขณะนี้ ที่กล่าวถึงเห็น ก็เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า "เห็น" ขณะนี้มี แล้วก็เป็นธรรม แต่ความห่างไกลของปัญญาที่จะเห็นว่า เห็นมีจริง ไม่ใช่เรา เป็นธรรม ก็ลองคิดดูว่าในแสนโกฏิกัปป์ หรือนานแสนนานมาแล้ว เราไม่เคยรู้เลยว่าขณะนี้สภาพธรรมทุกอย่าง เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่ปรากฏในขณะนี้ที่ไม่ดับ เพราะฉะนั้นก็แสดงความห่างไกลกันมากของปัญญาที่เริ่มจากการฟัง จนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะอบรมจนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่าสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรม ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ด้วยปัญญาของเรา เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าชีวิตที่ดำเนินไปวันหนึ่งๆ แม้มีสิ่งที่ปรากฏก็ไม่เคยรู้ความจริง และยึดถือสิ่งนั้นๆ ด้วย เช่นสิ่งที่เป็นรูป เราติดมากเท่าไร มีใครไม่ปรารถนารูปหนึ่งรูปใดบ้าง ตั้งแต่เกิดจนตายกี่ชาติมาแล้ว ก็ปรารถนาเห็นสิ่งดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดีๆ เพราะฉะนั้นรูปเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราติดข้องมาก เป็นรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบ รูปละเอียด รูปใกล้ รูปไกล รูปอดีต รูปอนาคต อย่างไรก็ตามก็เป็นประเภทของรูปแต่ละรูป เป็นรูปซึ่งไม่ใช่นามธรรม

    สำหรับจิตก็เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เหลืออีก ๓ ขันธ์ เพราะขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ รูปขันธ์ ขณะนี้มีแน่นอน กำลังปรากฏ วิญญาณขันธ์ขณะนี้มี หรือไม่ มี กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นวิญญาณขันธ์ ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14


    หมายเลข 5250
    27 ม.ค. 2567