จำพร้อมความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ความจริงในขณะที่เห็น ก็มีลักษณะของสภาพธรรมของสิ่งที่ถูกเห็น มีลักษณะสภาพของสิ่งที่กำลังเห็นนั้น แต่ปรมัตถธรรมที่เกิดสั้นแสนสั้น ส่วนมากแล้วมักจะไปเรื่องราวของสิ่งที่ถูกเห็นนั้น..
ท่านอาจารย์ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไมเราคิดมาก เพราะเราคุ้นเคยกับการคิดอยู่ตลอดเวลา คุ้นเคยกับการจำเรื่องราว ก็ต้องคิดเป็นเรื่องราวไปจนกว่าสามารถที่จะมีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า เรื่องราวเกิด หรือมีได้ในขณะนั้น เพราะจิตคิด ขณะที่เห็น ไม่มีเรื่องราว ก็เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้กำลังเห็น ก็คิดเรื่องอื่นได้ ให้รู้ความต่างกันของ"เห็น"กับ "คิด" จะได้รู้ว่าที่จริงแล้ว สภาพธรรมที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ ก็คือเข้าใจลักษณะที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรม อย่างมั่นคง ก็จะเป็นการที่สามารถเข้าใจได้ว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็น แทนที่จะเป็นเรื่องจำคนโน้นคนนี้ จำโน่นจำนี่ ก็เป็นการเริ่มที่จะจำว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือขั้นต้นที่จะเปลี่ยนจากสัญญาการจำเรื่องราวต่างๆ มาสู่การที่จะจำได้มั่นคงขึ้นว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น
ผู้ฟัง คือขณะนั้นต้องจำลักษณะสภาพของปรมัตถธรรม กล่าวเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือไม่
ท่านอาจารย์ จำพร้อมความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม
ที่มา ...