วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิต เท่านั้น


    ปรมัตถธรรมมี ๔ ซึ่งปรมัตถธรรม ๓ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ดังนั้น ปรมัตถธรรมถ้ากล่าวโดยอีกนัยหนึ่ง ก็คือขันธ์ ๕ และที่กล่าวไปแล้ว ก็คือรูปทุกรูป เป็นรูปขันธ์ เพราะว่ารูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เมื่อเป็นเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ ก็เป็นสังขารขันธ์ ๑

    วิญญาณขันธ์ โดยปรมัตถธรรมได้แก่จิต วิญญาณขันธ์เป็นเจตสิกได้ หรือไม่ ไม่ได้ เป็นรูปได้ หรือไม่ ไม่ได้ เป็นเวทนาขันธ์ได้ หรือไม่ เป็นสัญญาขันธ์ได้ หรือไม่ เป็นสังขารขันธ์ได้ หรือไม่ จิต เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำว่า จิต หรือใช้คำว่า วิญญาณ ก็ได้ แล้วก็มีชื่ออีกหลายชื่อสำหรับจิต เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ยากที่จะเข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าค่อยๆ ฟังไปพร้อมๆ กับระลึก สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็จะเห็นความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่า รูปธรรมไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แต่นอกจากนั้นแล้ว ก็เป็นนามธรรมทั้งหมด เช่น จำ เป็นนามธรรม คิด เป็นนามธรรม โกรธ เป็นนามธรรม เมื่อย เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม เมื่อยเป็นนามธรรม รูปเมื่อยไม่ได้เลย เหมือนท่อนไม้ เพราะท่อนไม้ไม่มีสภาพรู้ใดๆ เลยทั้งสิ้น ท่อนไม้เป็นรูปธรรม ลักษณะอื่นที่ต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้แก่ เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น และสิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย คือ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นเป็นนามธรรมทั้งหมด

    สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ทำให้โลกปรากฏ ทำให้เรื่องราวทั้งหลายมีในทุกๆ วัน คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเราคิดไม่ถึงเลยว่าในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังปรากฏได้ในขณะนี้ เพราะจิตเกิดขึ้นเห็น เท่านั้นเอง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น สิ่งต่างๆ ในขณะนี้ สีสันวัณณะต่างๆ ความทรงจำว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏจะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่เป็นลักษณะของจิต แต่ความรู้สึกไม่ใช่จิต ความจำไม่ใช่จิต กุศล อกุศล สติปัญญา วิริยะ ความเกียจคร้าน ไม่ใช่จิต จิตล้วนๆ เท่านั้นที่เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเหตุว่า ลักษณะของจิต คือ สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16


    หมายเลข 5356
    17 ม.ค. 2567