จิตหลากหลายด้วยสิ่งที่จิตรู้แจ้ง


    แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มจะเข้าใจจิตเพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้ไม่ได้มีจิตประเภทเดียว ถูกต้อง หรือไม่ จิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ขณะนี้กำลังเห็น เป็นจิตที่มีสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏให้รู้ให้เห็น เป็นจิตประเภทหนึ่ง เวลาที่ได้ยินเสียง เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง แสดงว่าจิตหลากหลายด้วยสิ่งที่จิตรู้ จิตรู้ได้ทุกอย่าง รู้ชื่อได้ หรือไม่ แม้แต่ชื่อก็ยังรู้ หรือจำได้ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ รสต่างๆ เพราะจิตสามารถที่จะรู้แจ้งในความต่างของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ประการหนึ่ง คือจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน สามารถที่จะรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นลักษณะที่จิตรู้แจ้งมีอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้แน่นอน จะมีจิตเกิดโดยที่ไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ หรือไม่มีอารมณ์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อารมณ์ไม่ได้หมายความถึงอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี แต่หมายความถึงขณะที่จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต

    ขณะนี้เสียงในป่ามีได้ หรือไม่ มีได้ แต่ได้ยินเสียงในป่า หรือไม่ ไม่ได้ยินเสียงในป่า เพราะฉะนั้นเสียงในป่าไม่ใช่อารมณ์ เพราะขณะนั้นจิตไม่ได้เกิดขึ้นได้ยินเสียง แต่ขณะนี้เสียงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ในขณะที่กำลังได้ยินเท่านั้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ปรากฏให้ทราบว่า เพราะมีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย นี่ประการหนึ่ง
    อีกประการหนึ่ง คือ จิตหลากหลายต่างกันด้วยสภาพธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ แต่จิตจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ไม่มีสภาพธรรมใดที่จะเกิดขึ้นได้ตามลำพัง โดยไม่ได้อาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ก็มีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตเท่านั้น เจตสิกจะไม่เกิดกับรูปเพราะเจตสิกเป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่เจตสิกรู้อารมณ์โดยลักษณะที่ต่างกับจิต เพราะเหตุว่า เจตสิกทั้งหมดไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เช่น เวทนาเป็นความรู้สึก สัญญาเป็นความจำ และนอกจากนั้นก็เป็นสภาพนามธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารธรรม

    เพราะฉะนั้นจิตนอกจากจะต่างที่เห็น ต่างที่ได้ยิน ต่างที่ได้กลิ่น ต่างที่ลิ้มรส ต่างที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต่างที่คิดนึก ยังต่างด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าทุกคนเห็นเหมือนกัน คิดเหมือนกัน หรือไม่ ไม่เหมือน คนหนึ่งอาจจะไม่ชอบสิ่งที่เห็น แต่อีกคนหนึ่งชอบ ทั้งๆ ที่ก็เป็นจิต หลังจากที่เห็นแล้ว ก็จะต้องมีจิตที่เมื่อเห็นแล้วก็จะต้องคิดนึกต่างๆ แต่ก็ต่างกันโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แม้คนเดียวกันมีจิตหลากหลาย หรือไม่ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล ถ้าหลายๆ คน ความหลากหลายของจิตจะมากมายสักแค่ไหน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16


    หมายเลข 5358
    17 ม.ค. 2567