สันดาน - สันตานะ - สันตติ


    ท่านอาจารย์ คุณธีรพันธ์ได้ยินคำว่า “สันดาน” ในภาษาไทย หรือไม่

    อ.ธีรพันธ์ เหมือนกับว่าเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดี ในสมัยเด็กๆ ได้ยินคำว่าสันดาน เช่น สันดานไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าดี เป็นสันดาน หรือไม่

    อ.ธีรพันธ์ เป็นสันดาน

    ท่านอาจารย์ ตอนเป็นเด็กทราบ หรือไม่ว่า ที่ดี ก็เป็นสันดานด้วย

    อ.ธีรพันธ์ จะทราบน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ที่ทราบ คือ จะเป็นสันดานที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินคำว่า “สันตานะ” หรือคำอื่นอีกที่มีความหมายว่า “สืบต่อ” จะมีคำอื่นอีก เช่น “สันตติ” คำที่คล้ายๆ กัน แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปรวมทั้งหมดทุกกรณี ไม่คิดเอง อาจจะพลาดได้ เพียงแต่ว่าถ้าได้ยินคำภาษาไทย แล้วก็ได้ฟังธรรม ก็สามารถที่จะเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ภาษาไทยใช้คำว่า "สันดาน" ที่เราเข้าใจเดี๋ยวนี้คือ จิตเกิดดับสืบต่อ ไม่ใช่ว่าจิตเกิดดับแล้วหมดเลย แต่การดับไปของจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะมีการเกิดดับสืบต่อของจิตตามการสะสม ว่าใครสะสมทางตา เห็นอะไรบ้าง ก็คิดถึงสิ่งนั้น หรือว่าเป็นวิชาการต่างๆ ก็ตามที่ได้ยินได้ฟังประกอบด้วย ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็มีจิตเกิดดับเป็น "สันตานะ" ของแต่ละคน แต่ในภาษาไทยใช้สำหรับความหมายที่ไม่ดีว่า เด็กคนนี้สันดานไม่ดีตามที่คุณธีรพันธ์กล่าว แต่ความจริงกำลังพูดความหมายในภาษาบาลีว่า เพราะการสะสม หรือ การสั่งสมไม่ดี คือ สั่งสมอกุศลไว้มาก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเห็น จะได้ยิน อะไรก็ตาม จะมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดีเพราะ"สันตานะ" เรากำลังใช้เหตุผล ใช้คำที่ถูกต้อง ไม่ได้ว่าใครเลย เพราะเหตุว่าตามความจริง เพราะการเกิดดับสืบต่อของจิตของแต่ละบุคคลนั่นเอง ที่ทำให้แต่ละบุคคลมี"สันตานะ"ที่ต่างกัน ถ้าได้ยินคำว่า "สันดาน" ต่อไปก็คงจะไม่รู้สึกอะไร ใช่ หรือไม่ ถ้าไม่มีคำว่า ดี หรือ ไม่ดี

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17


    หมายเลข 5366
    17 ม.ค. 2567