เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อปรุงแต่งแล้วเกิด


    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เราทำอะไรมาก็จะสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อถึงชาติที่เป็นมนุษย์ ขณะนี้กำลังฟังพระธรรม แล้วปัญญาสามารถเกิดได้ไหมว่า สิ่งที่สะสมมาไม่ถูก เราควรจะละ แล้วมาสะสมสิ่งที่ถูก เป็นปัญญา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็น"เจตสิก" ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า “ปัญญาเจตสิก” ซึ่งไม่ใช่ใครเลย เพราะเป็นสภาพธรรม ปัญญาเจตสิกเกิดแล้วดับ ถ้ามีปัญญาทั้งวันก็คงดี แต่เมื่อปัญญาดับแล้ว อะไรเกิด ก็เป็นไปตามการสั่งสมอีก เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเข้าใจธรรม เห็นธรรม รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้น แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นยังไม่เกิด จะรู้ได้ไหม คนที่กำลังนอนหลับสนิทตื่นขึ้นมาจะรู้ได้ หรือไม่ว่าอะไรจะเกิด จะคิดอะไร จะรู้ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้ว ผู้ที่เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงก็รู้ว่าตามปัจจัย ใครจะทำอะไรได้ ตัวอย่างเช่น ที่คิดเรื่องไม่ดีบ่อยๆ คิดแล้ว เกิดแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดแล้วได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนั้นถูกปรุงแต่งเป็น" สังขต" เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ดับไปเลย แต่เพราะความเป็นเราก็ยังห่วงใย ก็ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นหัวใจของพระพุทธศาสนา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเข้าถึงความเป็นอนัตตา ให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีใครสามารถจะดลบันดาลได้ ไม่ว่าแต่ละขณะจิตที่เกิดเป็นอย่างนี้ เพราะมีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อไหร่ เมื่อปรุงแต่งแล้วเกิด จึงรู้ แต่ถ้ายังไม่เกิด ก็ไม่รู้ เช่นเมื่อวานนี้ ที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของสภาพธรรมเลย สภาพธรรมเป็นธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของ จิตยังไม่เกิดจะเป็นเจ้าของจิตได้ หรือไม่ จิตดับไปแล้วยังจะตามไปเป็นเจ้าของจิตที่ดับได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้ แต่เมื่อสภาพธรรมใดเกิดแล้ว ไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่ต้องเมื่อเกิดขึ้น ไม่ใช่เมื่อยังไม่เกิด

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าถึงจะสั่งสมอะไรมาก็แล้วแต่ ก็ควรจะศึกษาคำสอนที่ถูกต้อง แล้วมีปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญาก็ทำหน้าที่จะให้รู้ว่านี้ควรละ นี้ควรเจริญใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของปัญญา ปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง

    ผู้ฟัง ต้องศึกษา ต้องฟัง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะว่าไม่รู้ต่อไป แต่เมื่อเป็นพุทธศาสนา คำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย

    ผู้ฟัง แล้วในกรณีที่ทั้งๆ ที่เป็นคำสอน เป็นความจริง และก็ให้เห็นหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังดื้อไม่เชื่อ นั่นก็คือสั่งสมสันดานที่ไม่ดีมา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือพื้นฐานพระอภิธรรม ที่เราจะต้องมีความเข้าใจในขั้นต้น มิฉะนั้นต่อไปเราก็จะมีความสับสน เวลาอ่านได้ยินคำว่า “ให้เจริญกุศล” ก็คิดว่ามีตัวตน มีผู้บอก แต่ความจริงให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร และปัญญาที่เข้าใจถูกก็จะทำหน้าที่ของปัญญานั้น

    ผู้ฟัง หมายความว่าต้องฟังให้ปัญญาเจตสิกเกิดเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟัง ไม่มีปัจจัยที่ปัญญาจะเกิด เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสาวก จนกว่าจะเป็นอริยสาวก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17


    หมายเลข 5369
    17 ม.ค. 2567