ลักขณาธิจตุกะของจิต
อ.วิชัย ลักขณาทิจตุกะของจิต คือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ มีการเป็นหัวหน้าเป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีการเกี่ยวข้องกัน คือการเกิดสืบต่อกันเป็นอาการปรากฏ ส่วนเหตุใกล้ คือ นาม และรูป
ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง มีเสียง มีสี
ท่านอาจารย์ มีเสียงเป็นอารมณ์ มีสีที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง มีความรู้สึกทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ท่านอาจารย์ รู้สึกทางกาย เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง เป็นอารมณ์ แล้วมีอะไรอีกไหม
ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังอมยาอยู่ ก็มีรสเย็น
ท่านอาจารย์ มีรสเป็นอารมณ์อีกหนึ่ง สำหรับผู้ที่อมยา ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า มีรส มีตา มีหู มีลิ้น มีกาย มีอะไรอีกไหม
ผู้ฟัง มีกลิ่น
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กำลังได้กลิ่น ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นทีละหนึ่งขณะ นี่คืออาการที่ปรากฏสืบต่อ ปรากฏให้เห็นว่าไม่ขาดเลย เพราะฉะนั้นเราจะรู้ลักษณะของจิตได้ นอกจากจะมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ยังเป็นประธานเป็นใหญ่ที่สามารถจะรู้ลักษณะของอารมณ์โดยการรู้แจ้ง แล้วก็มีการเกิดดับสืบต่อเป็นอาการปรากฏ คือขณะนี้เองจากทางตาที่เห็น เป็นทางหูที่ได้ยิน ต่อกันสนิทเลยไม่เห็นว่าดับเลย แต่ความจริงต้องดับ จิตที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มีเลย แต่สืบต่อกันจนกระทั่งมองไม่เห็นความเกิดดับของจิต ยังมีอีกไหม
ผู้ฟัง มีทางความคิด มโนทวาร
ท่านอาจารย์ ต้องมีคิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นโดยมากจะลืมคิดว่ามีทางตาเห็น ขณะนี้เห็นจริงๆ ทางหูได้ยินจริงๆ หรือบางคนทางจมูกก็กำลังได้กลิ่นดอกบัว หรือกลิ่นสะอาด ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ จำเป็น หรือไม่ที่จะต้องใช้คำอธิบายอารมณ์ ซึ่งบางคำไม่สามารถจะใช้ให้เข้าถึงลักษณะของอารมณ์นั้นได้เลย เช่น ลักษณะของอารมณ์ เราจะบรรยายอย่างไรถึงลักษณะลื่นๆ เหนียวๆ เหนอะๆ ทางกาย อย่างมากเราก็อาจจะบอกได้ว่าอ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว บางคนก็ถามว่า ลื่นเป็นอะไร เหนียวเหนอะหนะเป็นอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ไม่ใช้คำพูดใดเลย แต่จิตกำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และที่ขาดไม่ได้คือ "คิดนึก" ไม่มีใครสักคนในที่นี่ที่ไม่ได้คิด แต่การคิดนึกจะสลับเร็วมาก ในขณะที่เห็น แล้วก็คิด ในขณะที่ได้ยิน แล้วก็คิด แล้วแต่ว่าจะคิดเป็นเรื่องราว หรือไม่ ถ้าคิดเป็นเรื่องราวก็พอที่จะบอกได้ว่า ขณะนั้นมีจิตที่คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นการรู้อารมณ์ ๕ ทวาร หรือ ๕ ทางในขณะที่ไม่ใช่หลับสนิท พอจะรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้บ้างไหม มีจิตขณะใดที่พ้นจากลักขณาทิจตุกะ หมวด ๔ ของจิตที่กล่าวถึง ๔ อย่าง ซึ่งจะทำให้เข้าใจจิตขึ้น
ที่มา ...