จิตทั้งหมดเป็นอนัตตา แบ่งเป็น ๔ ชาติ


    สำหรับจิตไม่ใช่ว่าเพิ่งมีในวันนี้หรือชาตินี้ แต่ว่ามีก่อนมาแล้วนานแสนนาน จนกระทั่งการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะปรุงแต่งทำให้เกิดจิตในขณะนี้แต่ละขณะซึ่งต่างกันไป

    แม้ในคนหนึ่งจิตเมื่อวาน จิตวันนี้ จิตต่อไปข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าจะเป็นจิตประเภทไหน มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่าทั้งหมดเป็นอนัตตา ซึ่งถ้าศึกษาละเอียดขึ้นๆ ก็จะรู้ได้ว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ในขณะนี้ได้เลย เพียงแต่ว่าเราจะค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจขึ้นเพื่อที่จะละความเป็นเรา โดยทราบว่าก่อนอื่นถ้าศึกษาเรื่องจิตจะต้องทราบว่าจิตมี ๔ ชาติ เพราะเหตุว่าไม่เหมือนกันเลยในวันหนึ่งๆ จิตที่เป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงามก็มี จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตที่ไม่ดีงามก็มี จิตที่เป็นผลของกุศล และอกุศลเป็นวิบาก จิตที่เป็นวิบากที่เป็นผลของกุศล และอกุศลก็มี และจิตที่เป็นกิริยาก็มี กิริยาจิตส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์

    แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต ๒ ประเภทคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นกิริยา และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นกิริยา สำหรับบุคคลทุกประเภท เพราะเหตุว่าจิตมีหลากหลายโดยการที่มีทางที่จะรู้อารมณ์ต่างๆ เช่น ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น ทุกคนฟัง และมีจิตที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีจิตที่ได้ยินเสียงอาศัยหู ขณะนี้การฟังแต่ละครั้งแม้ว่าจะย้ำไปย้ำมาก็เพื่อเตือนให้เข้าใจจริงๆ ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเป็นจิตประ เภทหนึ่ง ในขณะที่กำลังได้ยินเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตเห็น และจิตได้ยินเป็นผลของกรรม ทุกคนอยากที่เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงดี ลิ้มรสดี ได้กลิ่นดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี แต่แล้วแต่กรรม

    แต่ว่าก่อนจิตเห็น จิตต้องเป็นภวังค์ก่อน ขณะที่กำลังเป็นภวังค์หมายความว่าถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเลย เช่นขณะที่นอนหลับสนิท ขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นภวังคจิต

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28


    หมายเลข 5864
    24 ม.ค. 2567