สิ่งที่เกิดทางใจต่างกับสิ่งที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง คือผมกำลังเปรียบเทียบว่าการที่ตาก็เห็นได้ หูก็ฟังเสียงได้ จมูกได้กลิ่น ลิ้นก็ลิ้มรสได้ ทางกายก็สัมผัสสิ่งที่ถูกต้องทางกายได้ มันยังมีสิ่งที่ว่าขณะนี้เราสัมผัส เช่นสัมผัสแข็งอยู่ เช่นโต๊ะ เก้าอี้เราก็สัมผัสว่าแข็ง ขณะนี้มีทั้งเห็น ทั้งได้ยินเสียง เกิดขึ้น ก็เลยอยากจะเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดทางใจว่ามันต่างกันมากมายอย่างไรระหว่างห้าทางกับอีกทางหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ต้องต่าง เพราะเหตุว่าจักขุปสาท แม้ขณะที่กำลังหลับสนิทก็เกิดดับ โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท กรรมเป็นสมุฏฐานให้รูปเหล่านี้เกิด และก็ดับ แม้แต่ขณะนี้ขณะที่กำลังได้ยิน จักขุปสาทรูปก็เกิดดับแต่ไม่ใช่ทวาร เพราะว่าขณะนั้นได้ยินไม่ใช่เห็น
เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยิน แม้จักขุปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาทจะเกิดเพราะกรรม และก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เฉพาะโสตปสาทเท่านั้นที่เป็นโสตทวารสำหรับจิตจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตจะเกิดขึ้นได้ยิน ก่อนนั้นต้องเป็นภวังค์ ต้องมีจิตเกิดดับดำรงภพชาติไว้เสมอเลย เพื่อที่จะเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง ซึ่งเป็นผลของกรรม ต้องเป็นอย่างนี้เวลาที่กรรมพร้อมที่จะให้ผล
ถ้าจะให้ผลทางหู ขณะนั้นก่อนที่จิตจะได้ยิน ก็จะต้องเป็นภวังคจิตก่อนดำรงภพชาติ และเวลาที่เสียงเกิดขึ้นกระทบโสตปสาท ยังไม่ได้ยิน แต่ว่าเกิดพร้อมกับภวังค์ใด เราใช้คำเรียกว่า “อตีตภวังค์” ภวังค์ที่มีอารมณ์เดียวกับภวังค์ก่อนๆ ที่เป็นอดีตยังไม่ได้เปลี่ยนอารมณ์ ไม่ว่าจะชื่อภวังค์อะไรก็ตาม
แต่เมื่อใช้คำว่า “อตีตภวังค์” เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่ารูปเกิดพร้อมกับโสตปสาทซึ่งเกิดเพราะกรรม เพราะกรรมจะทำให้โสตปสาทเกิดทุกอนุขณะของจิต เร็วแค่ไหน จิตหนึ่งขณะสั้นมาก แต่แม้กระนั้นขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ขณะที่ดับไป เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้นในอนุขณะแรกคือ อุปาทขณะ โสตปสาทเกิด ในฐีติขณะ โสตปสาทรูปเกิด ในภังคขณะโสตปสาทรูปเกิด
เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงเกิดพร้อมโสตปสาท และภวังค์ที่กระทบเริ่มที่จะกล่าวว่าเป็นอตีตภวังค์ ให้ทราบว่ารูปๆ หนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปนั้นจะดับเมื่อไหร่ ๑๗ ขณะนี่อย่าลืมว่าเร็วแสนเร็ว เพราะว่าขณะนี้ทั้งเห็นทั้งได้ยินเหมือนเกิดพร้อมกัน แต่ความจริงมีจิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น จะไม่มีใครที่สามารถตรัสรู้ และทรงแสดง แม้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ยุคไหนสมัยไหนก็ตาม เมื่อไม่ได้ตรัสรู้สภาพธรรม วิสัยของปุถุชนจะไตร่ตรอง ตรึกตรอง จะคิด ก็เพียงคิดได้เท่าที่จะสามารถในกาลสมัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่การตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปเกิดพร้อมโสตปสาทแล้วรูปดับหรือยัง
ผู้ฟัง รูปก็ยังไม่ดับ
ท่านอาจารย์ โสตปสาทดับหรือยัง
ผู้ฟัง โสตปสาทก็ยังไม่ดับ
ท่านอาจารย์ อะไรดับ อตีตภวังค์ดับ เมื่ออตีตภวังค์ดับแล้ว ภวังค์ต่อไปก็ใช้คำว่า “คจลนะ” เพื่อที่จะเปลี่ยน แต่ไม่ได้ไหวอย่างรูป แต่ลักษณะของนามธรรมให้ทราบถึงความรวดเร็ว เพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้แล้ว แม้แต่ขณะที่ต่อจากอตีตภวังค์ก็เป็นภวังคจลนะ หนึ่งขณะสั้นๆ แล้วดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดสืบต่อ ถ้าเป็นทางมโนทวารไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยอะไรเลย จิตที่เป็นกุศล อกุศล คิดต่อได้ทันทีจากมโนทวาราวัชชนจิต แต่ถ้าทางปัญจทวาร พอภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่า“อาวัชชนะ” หมายความถึง จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ รำพึงในภาษาไทยนี่ยาวใช่ไหม จะรำพึงถึงอะไร แต่ว่าขณะนั้นเพียงชั่วหนึ่งขณะที่รู้ว่าอารมณ์กระทบ ดับ ยังไม่ทันเห็นทันได้ยิน หลังจากนั้นจิตเห็นจึงเกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุปสาท หรือจิตได้ยินจึงเกิดขึ้นโดยอาศัยโสตปสาท หรือจิตได้กลิ่นเกิดขึ้นโดยอาศัยฆานปสาท แล้วแต่ว่าเป็นการกระทบของทวารไหน จิตก็เกิดขึ้นรู้รูปที่กระทบทางทวารนั้นๆ
แต่ต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ถ้าเป็นทางปัญจทวารต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เติมคำว่าอาวัชชนะ จึงรวมเป็นคำว่าปัญจทวาราวัชชนะ ถ้าพูดถึงปัญจทวารต้องเป็นรูป ๕ รูป แต่ถ้าพูดถึงปัญจทวาราวัชชนะ ต้องเป็นวิถีจิตแรกที่สามารถจะรู้อารมณ์ที่กระทบได้ทั้ง ๕ ทวาร ทีละทวาร รูปยังไม่ดับใช่ไหม
ผู้ฟัง รูปยังไม่ดับ
ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างของปัญจทวาร ทางมโนทวารไม่ได้มีรูปมากระทบ เพราะฉะนั้น พอภวังคุปัจเฉทะดับ มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิดก่อน นึกถึงแล้วแต่ว่าจะเป็นอะไรทางมโนทวาร เมื่อดับไปแล้วกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดต่อได้ทันที เวลาเราคิดถึงอะไรเราอาจจะไม่ทราบว่าเราคิดด้วยกุศลจิต หรือดัวยอกุศลจิต และก่อนนั้นต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ก่อนนั้นต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ ก่อนภวังคุปัจเฉทะก็คือภวังค์
เพราะฉะนั้น ถ้าจะหาว่ามโนทวารเมื่อไหร่ มโนทวาราวชนเป็นวิถีจิตเป็นมโนทวารไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภวังคุปัจเฉทะนั่นแหล่ะเป็นมโนทวาร สำหรับวิถีจิตอื่นๆ ที่จะเกิดต่อทางมโนทวาร ในทวาร ๖ จึงเป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวารเป็นนามคือจิตแต่ไม่ใช่จิตทั่วไปทั้งหมด ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร
ที่มา ...