เรียกชื่อจิตตามความเป็นจริง ตามกิจหน้าที่
ท่านอาจารย์ เมื่อจักขุวิญญาณดับขณะนี้ จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากสัมปฏิจฉันนะ เรียกชื่อตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าจะไปตั้งชื่อว่าสัมปฏิจฉันนะไว้ก่อน แล้วก็มาทำหน้าที่ แต่ว่าจริงๆ แล้วจิตที่เกิดสืบต่อทำกิจ คือ รับ และรู้อารมณ์เดียวกับจักขุวิญญาณ แต่ไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น เพราะฉะนั้นจึงเรียกจิตนี้ว่าสัมปฏิจฉันนะตามกิจ หรือหน้าที่ของจิต เพราะว่าจิตทุกขณะที่เกิดต้องทำหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด จะไม่มีจิตซึ่งเกิดแล้วไม่ทำหน้าที่อะไร ไม่ได้ จิตต้องทำหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ
จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ขณะของชาติหนึ่ง ภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิดำรงภพชาติในระหว่างที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นทำภวังคกิจ ๒ กิจแล้ว และกิจสุดท้ายก็คือจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลนี้อีกต่อไปไม่ได้ ๓ กิจแล้ว เหลืออีก ๑๑ กิจ
อาวัชชนกิจก็เป็นกิจหนึ่งซึ่งมีจิตที่ทำกิจนี้ ๒ ดวง หรือ ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจเดียวกันแต่ต่างทวาร แต่เป็นกิจเดียวกัน จักขุวิญญาณทำกิจเห็น เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นเป็นกิจหน้าที่หนึ่งของจิตซึ่งเกิดขึ้นเห็น รูปเห็นไม่ได้ ใครก็เห็นไม่ได้ จิตได้ยินก็เห็นไม่ได้ แต่จิตนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทำกิจเห็น ทำอื่นไม่ได้ ลองคิดดู แค่เกิดขึ้นแล้วก็เห็น ๑ กิจ ได้ยิน ๑ กิจ ได้กลิ่น ๑ กิจ ลิ้มรส ๑ กิจ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๑ กิจ อีก ๕ กิจ เมื่อกี้นี้ ๔ กิจแล้ว ตอนนี้เพิ่มอีก ๕ กิจ เป็น ๙ กิจ เหลืออีก ๔ กิจ ทั้งหมดมี ๑๔ กิจ เหลืออีกแค่ ๕ กิจเท่านั้น
สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อ เห็น หรือไม่ เห็นไม่ได้ เพราะสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ทำทัศนกิจ แต่รู้อารมณ์เดียวกัน ไม่ใช่อารมณ์อื่น แต่ไม่ได้ทำทัศนกิจ นี่คือความน่าอัศจรรย์ของจิตซึ่งสามารถอาศัยทวารนี้ รู้อารมณ์นี้ แต่ว่ารู้โดยกิจต่างๆ กัน สัมปฏิจฉันนจิตทำกิจสัมปฏิจฉันนะ คือรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณในขณะนี้ ดับ หรือไม่ ต้องดับ ไม่มีจิตสักขณะเดียวซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเกิดต่อ คือ สันตีรณจิต
ผู้ฟัง จักขุวิญญาณจิตเกิด ก็เห็นแล้วไม่ใช่ หรือ
ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณจิตเห็นแล้วดับ
ผู้ฟัง แล้วเมื่อสักครู่อาจารย์กล่าวว่าสัมปฏิจฉันนจิต
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ทำทัศนกิจเลย
ผู้ฟัง แล้วทำอะไร
ท่านอาจารย์ ทำสัมปฏิจฉันนะ
ผู้ฟัง ซึ่งไม่เห็น
ท่านอาจารย์ ไม่เห็น แต่รับรู้อารมณ์ต่อ
ผู้ฟัง รับต่อเฉยๆ
ท่านอาจารย์ รู้ต่ออารมณ์นั้น ทางใจเห็นอะไร หรือไม่ ไม่เห็น แต่ยังรู้ได้ เหมือนเห็น
ที่มา ...