นำอายุของจิตมาใช้นับอายุของรูป
ผู้ฟัง รูปนั้นก็มีอายุมากกว่า ๑๗ ขณะจิตได้ หรือไม่
ท่านอาจารย์ เวลาที่รูปๆ หนึ่งเกิด วิธีที่จะรู้ว่ารูปๆ นั้นดับเมื่อไหร่ ไม่สามารถจะนำสิ่งอื่นใดมาวัดได้ ต้องนำสิ่งที่สั้นกว่านั้น คืออายุของจิตมานับว่ารูปๆ หนึ่งจะมีอายุยืนยาวเท่าไหร่ เพราะรูปมีอายุมากกว่าจิต จิตต้องดับไปก่อน แม้จะเกิดพร้อมกัน แต่จิตต้องดับไปก่อน และรูปนั้นยังคงไม่ดับ จิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ รูปๆ นั้นจึงดับ ไม่ต้องเรียกภวังค์ ไม่ต้องเรียกสัมปฏิจฉันนะ ไม่ต้องเรียกอะไร รูปๆ นั้นก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ในการที่จะมีการเห็นแต่ละครั้ง หมายความว่าในขณะของรูป ๑๗ ขณะที่ยังไม่ดับ จะมีจิตอะไรเกิดบ้างที่จะทำให้มีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้ โดยอาศัยรูปซึ่งสามารถกระทบทวาร หรือปสาทแต่ละอย่าง เมื่อกระทบแล้ว รูปเกิด แล้วกระทบทันที และรูปนั้นจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ จนหมด แล้วแต่ว่าจะถึงขณะไหนก็ตาม ก็ต้องดับ ซึ่งโดยปกติชวนะจะไม่เกิดเพียง ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ ขณะ เพราะฉะนั้น อายุของรูปที่ต้องเหลือถึง ๗ ขณะ ชวนจิตจึงจะเกิดได้ มิฉะนั้นก็เป็นโวฏฐัพพนะ ซึ่งก็ต้องไม่ถึง ๗ ขณะแน่นอน เป็นการแสดงให้เห็นว่า เมื่อรูปกระทบปสาทหนึ่งปสาทใด วิถีจิตจะเกิดมาก หรือน้อยตามอายุของรูป ถ้ารูปดับไปแล้ววิถีจิตก็เกิดไม่ได้ แต่ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด รูปยังไม่ดับ สัมปฏิจฉันนะจิตเกิด รูปยังไม่ดับ สันตีรณะจิตเกิด รูปยังไม่ดับ ถ้าใกล้จะดับไม่ถึง ๗ ขณะ โวฏฐัพพนะก็เกิด แล้วก็เกิดอีก แล้วก็เกิดอีกก็ได้ จนกว่ารูปจะดับ ก็เป็นเรื่องที่แสดงอายุของรูป กับแสดงกิจของจิตว่า จิตใดสามารถจะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบทางตาหนึ่งทวารแล้ว จะเป็นปัจจัยทำให้จิตเกิดขึ้นทำกิจอะไรบ้าง
ที่มา ...