รูปดับเมื่อไร


    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าเรายังไม่จะรู้ว่าเป็นนก เรายังไม่รู้ว่าเป็นหน้าต่าง พัดลม จนกว่าจะมีมโนวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง

    ท่านอาจารย์ สำหรับทางจักขุทวาร เข้าใจหมดแล้วใช่ไหม รูปดับ หรือยัง

    ผู้ฟัง รูปดับ

    ท่านอาจารย์ ดับเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง รูปดับต้อง ๑๗ ขณะก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ารูปดับไปแล้วเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าในขณะนี้ถ้าเราเริ่มต้นตั้งแต่ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ๗ ขณะ ตทาลัมพนะ ๒ ขณะ รูปดับเมื่อใด ดับพร้อมกันกับตทาลัมพนะ นี่คือจักขุทวารวิถีจิต หมายความว่า จิตทุกวิถีที่เกิดโดยอาศัยทวารเป็นวิถีจิตทั้งหมด นับได้ ๗ ประเภท ไม่ใช่ประเภทเดียว คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจะใช้คำว่าจักขุทวาราวัชชนจิตถ้าเป็นทางตา เป็นวิถีประเภทหนึ่ง มีหนึ่งขณะ หลังจากนั้นก็เป็นจักขุวิญญาณเป็นวิถีจิตอีกประเภทหนึ่ง กล่าวถึงประเภทก่อน อีกหนึ่งขณะ ต่อจากนั้นสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิตอีกประเภทหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นวิถีเพราะอาศัยทวารเดียวกัน เมื่อรูปดับแล้วจิตต่อไปเป็นอะไร

    ผู้ฟัง มโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงมโนทวาร คือต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าขณะนี้เรากำลังกล่าวถึงจิตที่เป็นวิถีจิต คือ ต้องเกิดดับสืบต่อโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะว่าขณะที่เป็นภวังค์ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น หลับสนิทเลย สีไม่ปรากฏ เสียงไม่ปรากฏ กลิ่นไม่ปรากฏ นั่นคือไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด

    ผู้ฟัง แล้วกุศล อกุศล เกิดเมื่อใด

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากก่อน ชาตินี้ตั้งต้นด้วยวิบากจิต คือปฏิสนธิ เป็นผลของกรรมหนึ่ง แต่กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียวไม่พอ ดังนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ยังทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกันกับที่ทำปฏิสนธิ เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ โดยไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เพราะว่าไม่ได้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจิตประเภทเดียวกันนี้ ที่เกิดจากกรรมเดียวกันนี้ เกิดขึ้นหลังจากปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิกิจแล้ว จิตนั้นทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง ภวังค์

    ท่านอาจารย์ ภวังคกิจ ทำกิจภวังค์ ยังไม่มีอะไรมากระทบเลย ต้องเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ เกิดดับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ ถ้าเป็นผลของอดีตกรรม ที่จะทำให้เห็น รูปารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่เกิดก่อนนี้ กระทบกับจักขุปสาท ถ้าคนนั้นไม่มีจักขุปสาท จะไม่มีการเห็นเลย หรือถ้าเป็นเสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ เสียงก็ต้องเกิดก่อน และกระทบกับโสตปสาทจึงใช้คำว่า"อตีตภวังค์" แสดงว่าเสียง และโสตปสาทเกิดตรงนั้น คือ ตรงอตีตภวังค์ เพื่อที่จะแสดงว่ารูปอายุ ๑๗ ขณะจิต จะดับขณะใด เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่จะต้องได้ยินจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้แล้ว กระทบแล้วก็เป็นอตีตภวังค์ อตีตภวังค์ดับแล้วอะไรเกิดต่อ ภวังคจลนะ "จลนะ" แปลว่าไหว ในที่นี้ไม่ใช่รูปไหว แต่หมายความว่า ไหว คือ ใกล้ที่จะสิ้นสุดความเป็นภวังค์ จะเป็นภวังค์ต่อไปอีกไม่ได้ จิตก็ไม่ไหวเพราะจิตไม่ใช่รูป แต่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเป็นภวังค์อยู่ และก็มีอารมณ์กระทบจะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ เพราะกำลังเป็นภวังค์อยู่ จากอตีตภวังค์ที่ดับไป ภวังค์ที่สืบต่อก็คือภวังคจลนะ แต่ยังเป็นภวังค์ ยังไม่มีอารมณ์ใหม่เลย ยังเป็นอารมณ์เดียวกับภวังค์ และเมื่อภวังคจลนะดับแล้ว อะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ต้องเรียงตามลำดับอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องมีภวังค์ ๓ ขณะทางปัญจทวาร คืออตีตภวังค์๑ ภวังคจลนะ๑ ภวังคุปัจเฉทะ๑ ภวงฺค (ภวังค์) + อุปจฺเฉท (เข้าไปตัด) ตัดกระแสภวังค์ หรือสิ้นสุดกระแสภวังค์ หมายความว่า ถ้าได้ยินคำว่า ภวังคุปัจเฉทะเมื่อใด จะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้เลยต้องเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า จักขุวิญญาณ เป็นภวังค์ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นภวังคุปัจเฉทะ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ภวังค์

    ผู้ฟัง ก็เรียกว่าเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิต ถ้าไม่ใช่ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ๓ ขณะนี้แล้ว ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางไหน ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดังนั้น ถ้ากล่าวถึง ๕ ทวาร ตั้งต้นจากอตีตภวังค์ รูปเกิดแล้ว ทั้งปสาทรูป และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะที่เห็น แต่ขณะนั้นยังไม่เห็น แต่เกิดแล้วในขณะนั้น กระทบกัน เกิดตรงนั้นเป็นอตีตภวังค์ ต่อจากอตีตภวังค์ ทบทวนอีกครั้ง ภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว เป็นภวังค์ต่อไปได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิตเพราะอาศัยทวาร เหตุที่ใช้คำว่าวิถีเพราะอาศัยทวาร ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิตหมายความว่าไม่ใช่วิบาก ในขณะที่ปฏิสนธิเป็นวิบาก ภวังค์เป็นวิบาก อตีตภวังค์ ชื่อว่าภวังค์เป็นวิบากหมด และไม่รู้อารมณ์อื่นเลยนอกจากอารมณ์ของปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น อตีตภวังค์เป็นวิบาก ภวังคจลนะเป็นวิบาก ภวังคุปัจเฉทะเป็นวิบากดับไปแล้ว จักขุทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เราต้องกล่าวถึงวิถีจิตแรกเสมอ เพราะถ้าวิถีแรกไม่เกิดวิถีหลังๆ จะเกิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ตอนที่เป็นปัญจทวาราวัชชจิตนี่จริงๆ ก็คือจักขุทวาราวัชชนจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สำหรับทางตา

    ผู้ฟัง ทำไมถึงเรียกจิตหนึ่งเป็นกิริยา อีกจิตหนึ่งเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เราจึงต้องทราบเรื่องชาติของจิต คือ เราไม่รู้เรื่องจิตเลย เกิดมาดับไปวันหนึ่งๆ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ชาติ คือ การเกิดของจิต มี ๔ ชาติ เมื่อเกิดเป็นกุศล แล้วจะเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือกิริยาไม่ได้ ต้องเป็นกุศลแล้วก็ดับ หรือจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ขณะนั้นจะป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาก็ไม่ได้ นี่คือเหตุ ๒ เหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดวิบากจิตซึ่งเป็นผล

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34


    หมายเลข 6127
    24 ม.ค. 2567