วิถีจิต - วิถีมุตตจิต
เพราะฉะนั้น เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ (จิตที่เกิดแล้ว ไม่ดับ ไม่มีเลย) ชื่อของจิตก็สำคัญ เพราะว่าจะไม่ทำให้สับสน แต่ชื่ออาจจะคล้ายกัน เช่น อาวัชชนะ กับ ชวนะ แต่ความจริงไม่ใช่ขณะเดียวกันเลย เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ จิตขณะต่อไปเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าจิตทั้งหมดจะแยกเป็นประเภท แยกเป็นภูมิ หรือแยกเป็นกิจการงานต่างๆ ก็ได้ แต่เมื่อจำแนกใหญ่ๆ จะมีจิตที่ต่างกันสองประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต สามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “วิถีมุตตจิต” หมายความว่าไม่ใช่วิถีจิต เพราะไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย เป็น "ทวารวิมุต" คือ พ้นจากทวาร แต่จิตก็เป็นธาตุพิเศษ เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธาตุ สิ่งที่ชื่อว่า"ธาตุ" แล้ว ใครก็ห้ามไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น "รูปธาตุ" ก็เป็นรูปธาตุ "นามธาตุ" ก็เป็นนามธาตุ ใครจะไปทำอะไรกับนามธาตุ รูปธาตุ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น
นามธาตุก็เป็นธาตุรู้ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าธาตุนี้มี และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็สามารถจะแยกได้ว่ารู้โดยอาศัยทวาร หรือโดยไม่อาศัยทวาร ถ้าทำปฏิสนธิกิจขณะแรกที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน กับภวังคกิจซึ่งดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น กับจิตขณะสุดท้าย คือ “จุติจิต” ทำจุติกิจ สามขณะนี้ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ถ้าเรามีพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเข้าใจได้ถึงจิตว่าจะชื่ออะไรก็ตามก็จะรู้ว่า จิตที่อาศัยทวารเป็น "วิถีจิต" และ จิตที่ไม่อาศัยทวาร "ไม่ใช่วิถีจิต" เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เป็นภวังค์จะชื่อต่างๆ ขณะนั้นไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด และไม่ใช่วิถีจิตด้วย แต่เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ ชื่อก็บอกแล้วว่า “ภวังคุปัจเฉทะ” ภวังค+อุปัจเฉทะ คือ ตัดกระแส สิ้นกระแส สิ้นสุดความเป็นภวังค์ หลังจากนั้นต้องเป็นวิถีจิต ภวังคจลนะยังเป็นภวังค์ ภวังคุปัจเฉทะก็เป็นภวังค์ เมื่อภวังค์คุปัจเฉทะดับแล้ว ภวังค์จะเกิดอีกไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นภวังค์ชื่ออะไรก็เกิดอีกไม่ได้เลย เพราะว่าต้องเป็นวิถีจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด
ที่มา ...