วิถีจิตแรกทางปัญจทวาร กับ อาวัชชนะ
วิถีจิตเกิดขึ้น ๖ ทวาร วิถีจิตแรกที่จะจำไว้ทาง ๕ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ทวารนี้ ใช้คำว่า "ปัญจทวาร" กับ "อาวัชชนะ" ไม่ใช่ "ชวนะ" อาจจะสับสน "อาวัชชนะ" หมายความถึง "รำพึงถึง" ในภาษาไทยแปลศัพท์คำว่า รำพึงถึง อาจจะคิดถึงว่า ใครก็ตาม อยู่ที่ไหน และรำพึงถึง คงเป็นเรื่องยาว ไม่สั้นเลย รำพึงแต่ละเรื่อง แต่รำพึงถึงหนึ่งขณะ หมายความว่า ขณะจิตนั้นไม่ใช่ภวังค์แล้ว แต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารใด มีอารมณ์ใหม่ทางทวารใด ก็มีจิตที่เป็นวิถีจิตแรก คือ "ปัญจทวาราวัชชนจิต" เกิดขึ้นรำพึง คือเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใด แต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิถีจิตแรก ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงแต่รู้สึกตัว เหมือนรู้สึกตัวจากที่ไม่ได้รู้สึกตัวเลยขณะที่เป็นภวังค์ แล้วก็รู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ เช่น ทางตา ก็คือ "รูปารมณ์" กระทบกับ "จักขุปสาท" ปัญจทวาราวัชชนจิต (ปัญจะ หมายถึง ห้า) ซึ่งมีชื่อเรียกได้ตามทวารนั้นๆ เช่น ทางตา ก็เปลี่ยนคำว่า ปัญจะ เป็น จักขุ แทนที่จะเรียกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ก็เป็น จักขุทวาราวัชชนจิต คือ จักขุทวาร กับ อาวัชชนะ เกิดขึ้นรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้ว่าเป็นเรื่องราว เพียงรู้สึกตัวว่าอารมณ์กระทบทางตา แล้วก็ดับ
ที่มา ...