ที่ต้องเรียนเรื่องชาติของจิตเพื่อไม่ให้สับสน


    ที่ต้องเรียนเรื่องชาติของจิตเพื่อที่จะไม่สับสนระหว่างจิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล และให้ทราบว่า จิตไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ก็ตามจะไม่พ้นไปจากชาติหนึ่งชาติใดเลยใน ๔ ชาติ เรายังไม่ได้กล่าวถึงว่า กุศลจิตมีเท่าใด อกุศลจิตมีเท่าใด วิบากจิตมีเท่าใด กิริยาจิตมีเท่าใด ขณะนี้ ยังไม่กล่าวถึง แต่สามารถค่อยๆ เข้าใจไปพร้อมกับการศึกษาเรื่องชาติของจิตได้ ที่จะให้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน เช่น ปฏิสนธิจิตนี้ต้องเป็นวิบากแน่นอน แล้วเมื่อปฏิสนธิจิตดับ กรรมก็ทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติยังไม่เปลี่ยนความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลอื่นยังไม่ได้เลย เป็นนกก็ต้องเป็นนก เป็นไก่ก็ต้องเป็นไก่ เป็นคนก็ต้องเป็นคน จนกว่าจะถึงจุติ แต่ก่อนจะจุติก็จะมีกรรมที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำให้รู้ได้ว่าเราเกิดมาเพราะกรรมแล้วก็ตลอดชีวิตก็ไม่พ้นผลของกรรม เป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว พร้อมกันนั้นก็สร้าง หรือมีเหตุใหม่ที่จะทำให้เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไปด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบคร่าวๆ ว่าจิต ๔ ชาติ แต่ละประเภททำกิจอะไร จะได้ทราบความจริงว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดมา แม้กำลังหลับก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบาก ต่อนี้ไปก็ทราบเลยว่า ขณะที่หลับสนิทเป็นภวังค์ไม่รู้อะไรเลยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะกรรมที่ทำให้เป็นภวังค์ ยังไม่ทำให้เห็น ยังไม่ทำให้ได้ยิน และยังไม่ทำให้ตาย ยังไม่ทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะได้ไม่ห่วงใยว่า อยากจะหลับแต่ยังไม่หลับ เพราะว่าจะหลับได้อย่างไรในเมื่อกรรมยังทำให้เห็น ทำให้ได้ยิน แต่เมื่อไหร่ที่จะทำให้ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ก็ทำให้หลับไป ก็เป็นผลของกรรมอีก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38


    หมายเลข 6164
    18 ม.ค. 2567