ความต่างกันของปรมัตถธรรม กับ บัญญัติธรรม


    อย่างไรก็ตามธรรมมีจริงแน่นอน แล้วเราจะรู้ได้ขณะไหนว่าขณะนั้นเรากำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ หรือว่าไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงสมมติ ก็จะกล่าวถึง"ปรมัตถ์"กับ"บัญญัติ" สภาพธรรมที่มีจริงคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นอกนั้นแล้วไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็น เราจะสามารถที่จะรู้ได้ หรือไม่ว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ หรือว่าขณะไหนที่กำลังได้ยินเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่ให้เรามีความเข้าใจในปรมัตถธรรมว่า ถ้าเราสามารถเข้าใจปรมัตถธรรม เข้าใจบัญญัติ และเราเข้าใจอย่างอื่นด้วย เพราะว่าเราคุ้นเคยกับอย่างอื่น แต่เราไม่เคยรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเลย ได้ยินแต่ชื่อเหมือนแว่วๆ แต่ว่าตัวจริงๆ ก็อยู่ไกล หรืออยู่ใกล้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นปัญญาของเราสามารถที่จะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือไม่ หรือเพียงแต่ได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ก็แสดงให้เห็นว่าเราต้องอบรมความรู้ความเข้าใจในปรมัตถธรรม แล้วถึงจะเห็นความต่างกันจริงๆ แม้จะกล่าวว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็แค่จำชื่อ แต่ว่าลักษณะที่เป็นปรมัตถ์นั้น รู้ หรือไม่ แต่ถ้าไม่รู้ ก็แค่จำไว้ก่อน ถึงอย่างไรใครมาถามเรา เราก็แค่ปรมัตถธรรม ๔ และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าถ้าขณะใดที่ไม่ใช่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ นี่คือความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม และขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมหนึ่งใน ๔ เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นบัญญัติคืออะไร บัญญัติ คือ สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถ์ ไม่ต้องเอ่ยมาสักคำ สมมติอะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แต่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่เราจำได้ทางตาในขณะนี้ เราก็จำได้เป็นดอกไม้อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ก็เป็นเพียงสีสัน แต่จำลักษณะนั้นว่าเป็นดอกไม้ เพราะฉะนั้นดอกไม้เป็นบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์ ถ้าเป็นปรมัตถ์ก็คือสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา สิ่งนั้นแม้ไม่เรียกชื่อเลยก็มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ๑ ใน ๔

    เพราะฉะนั้น เราต้องคุ้นเคย และเข้าใจปรมัตถธรรม จึงจะสามารถแยกปรมัตถธรรมกับบัญญัติ แล้วก็จะรู้ว่าเมื่อมีปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ก็มีการนึกคิด ไม่ใช่เฉพาะทางตา แต่ว่ามีการนึกคิดถึงเสียงต่างๆ สูงๆ ต่ำๆ เช่นเดียวกับที่ทางตา เวลาเห็นหลายๆ สี และก็มีการทรงจำว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทำไมเป็นคน และก็ไม่ใช่คนเดียวกันด้วย แต่ละคนๆ ก็สามารถที่จะจำบัญญัติของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ นี่คือการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว แม้ว่าปรมัตถธรรมมีจริง และเกิดดับเร็วมากแต่เราก็อยู่ในโลกของบัญญัตินั่นเอง จนกว่าจะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วบัญญัติไม่ใช่สภาวธรรมที่มีจริง แต่เป็นเพียงความจำ และก็เรื่องราวต่างๆ ที่คิดนึกต่อมา เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อมาเราก็รู้ว่าแม้ไม่ใช้คำ ไม่มีสัททบัญญัติ แต่อรรถบัญญัติ ความหมายของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็มีหลังจากที่เห็น ก็จะทำให้เข้าใจว่าปรมัตถธรรมต่างกับบัญญัติ และก็มีคำภาษาต่างๆ เพื่อที่จะสมมติให้เข้าใจว่าหมายความถึงอย่างไร ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่สำคัญก็คือต้องให้เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่าเป็นธรรม ไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ ต่อไปอีก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43


    หมายเลข 6326
    18 ม.ค. 2567