ถ้ารู้สภาพธรรมตามเป็นจริง ละกิเลสได้อย่างไร


    ผู้ฟัง จิต เจตสิก จับต้องก็ไม่ได้ แต่รู้ได้ เข้าใจได้ ถ้าเรารู้ปรมัตถ์ สติระลึกรู้ปรมัตถ์ จะละคลายกิเลส หรือตัณหาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ละความไม่รู้ ความไม่รู้ก็เป็นกิเลส ขณะที่รู้ก็ละความไม่รู้

    ผู้ฟัง เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ มาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มาก ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ ก็อยู่ในทางถูกตลอดไป หมายความว่ารู้ตามความเป็นจริง เราก็พูดเรื่องคำ เรื่องชื่อมามากเลย ลองจริงๆ ในห้องนี้มีคุณอรรณพ หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องตรง ไม่ใช่เราไปพูดชื่อตั้งมากมายแล้วไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเมื่อไร ถ้าถามว่าในห้องนี้มีคุณอรรณพ หรือไม่ มี มีคุณแก้วตา หรือไม่ มีคุณเรือนแก้ว หรือไม่ มีคุณอารี หรือไม่ มีคุณแสงจันทร์ หรือไม่ มีทั้งนั้นเลยใช่ หรือไม่ เพียง" ชื่อ" ใช่ หรือไม่ เพราะเราเรียนแล้วว่าที่จริงเป็นปรมัตถธรรม เพราะมีจิต มีเจตสิก มีรูป แต่จำรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่เห็น เพราะว่าถ้าหลับตาแล้วจับ จะรู้ หรือไม่ว่าเป็นคุณอรรณพ หรือใครก็ไม่รู้ ใช่ หรือไม่ แต่ว่ามีลักษณะที่แข็งกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่ชื่อ แต่ว่ามีลักษณะจริงๆ เช่น แข็ง รู้เมื่อไร ต่อเมื่อกระทบสัมผัส ถ้าไม่กระทบสัมผัสลักษณะแข็งจะไม่ปรากฏ แต่รู้ว่าแข็งมี จำว่ามี เคยกระทบ เคยสัมผัส แต่ลักษณะแข็งไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ที่รู้ว่าเป็นปรมัตถ์ หรือเป็นบัญญัติ ก็คือเมื่อลักษณะนั้นปรากฏให้เข้าใจถูกต้อง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามี แล้วทำไมบอกว่ามีคุณอรรณพ เพราะจำ เมื่อเห็นเมื่อไรก็จำทันที รูปร่างหน้าตาอย่างนี้เป็นคุณอรรณพ แรกๆ ก็ไม่รู้จักชื่อใช่ หรือไม่ คนที่ห้องนี้ก็มากมาย เห็นกันก็บ่อย จำชื่อหมด หรือไม่ แต่รู้ใช่ไหมว่าคนนี้เคยเห็น และก็อาจจะจำได้ว่ามากี่ครั้ง หรือว่าไม่ได้มาบ่อยๆ แต่ที่จริงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่ได้ลืมรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ยังจำได้

    เพราะฉะนั้นความจำ จำเรื่อง นิมิต ตามเครื่องหมาย ตามรูปร่าง ตามลักษณะ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วทุกๆ ขณะ ไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้นเห็นได้จริงๆ ว่าเราจำสิ่งที่ปรากฏ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์ แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นปรมัตถ์ก็คือไม่ต้องเรียกชื่อ เช่น เสียง มีจริงๆ ปรากฏแล้ว ลักษณะจริงๆ ถ้าสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะนั้น จะมีแต่ลักษณะของปรมัตถธรรม แล้วก็คั่นด้วยความคิดนึกเพราะว่าคนที่ไม่คิดไม่มี อย่างไรๆ ก็ต้องคิด จะคิดยาว คิดสั้น คิดถูก คิดผิด คิดมาก คิดน้อยอย่างไรก็คิด คิดเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องมีสาระก็คิด ซึ่งสลับกับปรมัตถธรรมที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี้ก็แสดงให้เห็นว่าต้องเข้าใจก่อน แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ให้ไม่ลืมที่จะต้องรู้ว่าปรมัตถธรรมคืออย่างนี้ อย่างน้อยที่สุด “ฟัง” แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นปรมัตถธรรม ส่วนชื่อเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ แล้วก็จำได้เข้าใจว่ามีเรา มีบัญญัติตลอด ทั้งๆ ที่เห็นเป็นปรมัตถ์ ก็ไม่ได้รู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ แต่มีหนทาง แต่หนทางนี้ต้องเป็นปัญญา เป็นทางอื่นไม่ได้เลย

    แม้แต่ขั้นการฟัง ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ ก็คือแค่เป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง จำไปทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนั้นเราไม่ได้มีการคิดนึกเรื่องยาวๆ ก็จะมีเสียงปรากฏ ก็จะรู้ลักษณะของเสียงโดยที่ไม่ต้องเรียกชื่อเลยเป็นปรมัตถ์ หรือแข็งที่กำลังมี ไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็เป็นปรมัตถ์ แต่ต้องอาศัยความรู้ เพราะเราก็เห็นมาตลอด ได้ยินมาตลอด กระทบสัมผัสตลอดโดยไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าปรมัตถธรรมมีจริง และก็มีลักษณะแต่ละทางซึ่งไม่ใช่เรา อยากจะรู้ หรือไม่ หรือว่าฟังแล้วก็อีกนาน หรือไม่ หรือว่านานก็ไม่เป็นไร จะรีบไปไหน ถ้าไปผิดๆ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43


    หมายเลข 6329
    18 ม.ค. 2567