มีจิตแต่ยังไม่รู้จักจิตตามเป็นจริง
ผู้ฟัง เรื่องของจิต ก็เหมือนกับจิตเกิดอยู่ตลอด แต่จริงๆ แล้วในขณะนี้มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างไรก็เป็นเราอยู่ ไม่ยอมที่จะคิดว่าขณะไหนเป็นจิตอะไร
อ.อรรณพ ที่กล่าวตรงนี้ก็ให้เห็นประโยชน์ว่าทำไมต้องศึกษาเรื่องจิต เพราะว่าถึงมีจิตอยู่ แต่เราไม่รู้จิตตามความเป็นจริง ใช่ หรือไม่ พูดก็ดูเหมือนจริง ถ้าเริ่มศึกษาพระอภิธรรมบ้างแล้วก็เริ่มจะเห็นลางๆ ว่าไม่ปราศจากจิตจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตายแล้วก็เกิดใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ด้วยความสอดคล้องของพระอภิธรรม แต่การที่ประจักษ์ในลักษณะของนามธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในขณะที่รู้อารมณ์ขณะหนึ่งๆ ...
ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ได้ยินคำว่า “ไม่ยอมที่จะรู้” ถ้าพูดอย่างนี้หมายความว่าเป็นเรา แต่ถ้าพูดว่ายังไม่มีปัจจัยพอที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกรู้ อย่างนี้หมายความว่าเรามีความเข้าใจถูกว่าธรรมเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นแม้แต่คำที่เราใช้ ก็แสดงให้เห็นว่าขณะไหนมีความยึดมั่นในความเป็นเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าใครยังพูดว่าไม่ยอม ไม่ยอม ก็คือมีตัวเรานั่นเองที่ไม่ยอม แต่ถ้ามีความเห็นถูกว่า ยังไม่มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิด
เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิดแต่ละครั้ง นิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะสูญหาย ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคงก็จะไม่เดือดร้อน ไม่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด หรือไม่เกิด แต่ความเป็นตัวตนคอยหวังเมื่อไรจะเกิด ยังไม่เลิกล้มความหวัง แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้น ยิ่งเป็นปกติธรรมดา แล้วสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นสภาพธรรมเกิดโดยที่ไม่มีความหวังที่จะทำให้เกิดขึ้น หรือแม้เมื่อเกิดแล้วก็ยังไม่หวังแม้นิดหน่อย ที่จะให้รู้ หรือให้เข้าใจสภาพธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องเริ่มเห็นว่าความหวังเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีมาก และทั่วไป ไม่ว่าจะในขณะไหน แม้แต่คำพูดที่ว่าไม่ยอมให้สติเกิด
ที่มา ...