กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ต้องอาศัยกาลเวลาที่นาน
ทุกคนเมื่อเป็นธรรมแล้วก็ไม่มีตัวตน และมีความหลากหลายกันไปตามจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อเกิดแล้วไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลก็คือสภาพธรรมทั้งหมดนั่นเอง แต่กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่นาน เพราะเหตุว่าถ้าคิดถึงอวิชชา ขณะที่กำลังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และก็ไม่ใช่เพียงชาตินี้ด้วย ก็ไม่ทราบจะอุปมาอย่างไรให้เห็นถึงความจริง เพื่อที่จะได้ไม่ท้อถอย เพราะเหตุว่าเป็นความจริง ถ้าเราเห็นก้อนหิน น้ำหยดลงไปทีละหยด เช่น ในถ้ำ จนกระทั่งเป็นก้อนหินใหญ่โตมาจากไหน มาจากทีละหยดใช่ไหม และทีละหยดของอวิชชา ลองคิดดู ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากมายสักแค่ไหน มหาศาลสักแค่ไหน และเราก็คิดว่าเป็นเราที่อยากจะให้กิเลสหมดเร็วๆ อยากจะรู้ อยากจะปฏิบัติทันที เป็นไปไม่ได้เลย เพราะทั้งหมดนั้นคือเรา แต่ถ้าเป็นการฟัง และมีความเข้าใจ ถ้าจะพูดถึงเรื่องจำนวน เช่น ถ้าจะคิดถึงว่าโลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แค่นี้อยากจะเข้าใจ หรืออยากจะจำว่าโลภมูลจิตมี ๘ ประเภท ก็จะได้เท่านี้เอง ถ้าไม่ได้สนใจ และรู้ว่าโลภะมีลักษณะอย่างไร และขณะที่เกิดต่างกันอย่างไร
บางขณะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุข จริง หรือไม่ คือ ทุกคนพิสูจน์ธรรม และเข้าใจธรรมที่มี และบางขณะโลภะก็เกิดร่วมกับความดีใจโสมนัสก็มี นี่ก็หลากหลายกันไปโดยความรู้สึก แล้วสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่เป็นประจำ แต่ไม่รู้ ก็คือความเห็นผิด คือ การไม่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มี และบางครั้งก็ทำให้เราเกิดความคิดในเรื่องโลก ในเรื่องตัวตน ในเรื่องลัทธิต่างๆ หลากหลาย และก็มีความยึดมั่นในความเห็นนั้น เพราะว่าถ้าไม่ยึดมั่น ความเห็นนั้นก็ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีความเห็นผิด และลักษณะของโลภะก็ไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าความเห็นผิดนั้นเกิดกับโลภะ ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจว่าได้ฟังความเห็นผิด สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้น บุคคลนั้นมีความติดข้องในความเห็นนั้น และถ้าเขามีความรู้สึกปิติยินดีมากที่เขาเข้าใจว่าที่เขาเห็นนั้นถูกแล้ว ขณะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่า เวลาที่มีความเห็นผิดจะประกอบกับโสมนัสเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา
นี้คือสิ่งที่เราค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริงที่มีจริงกับตัวเรา จนกระทั่งเมื่อฟังต่อไปก็จะรู้ว่า บางครั้งโลภะก็มีกำลังอ่อน และบางครั้งก็มีกำลังกล้า สังเกตุได้จากเวลาที่มีกำลังกล้า เราพอใจโดยไม่มีการชักชวนเลย โดยไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีใครมาชวน เราก็เกิดความติดข้องในสิ่งนั้น แต่บางครั้งเราก็อาศัยคนอื่นชักชวน หรืออาจจะเกิดความลังเลของเราเองก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ถ้ามีความเข้าใจเช่นนี้ แล้วได้ยินชื่อว่าโลภะมี ๘ ประเภท เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ใช่เพียงจำ เพราะว่าเรื่องจำก็คือสัญญาเจตสิก ก็จำอยู่แล้ว แต่ถ้าเรื่องจำนวนอยากจะคิดเมื่อไหร่ก็ได้ และท่านที่มีความกรุณาต่อพุทธบริษัทในครั้งหลัง เช่น ท่านพระอนุรุธทาจารย์ ท่านก็มีความกรุณาที่จะรวบรวมประเภทของจิต และเจตสิกไว้ให้ และมีคำอธิบายเป็นอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา นี่ก็เป็นเรื่องที่ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจในชาติหนึ่งๆ ที่จะสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกก็จะทำให้ไม่ว่าจะได้ยินอะไร ก็คิดพิจารณา ไตร่ตรอง เข้าใจสิ่งนั้นก่อนที่จะคิดว่าเราจะต้องไปจำจำนวนมากมาย เพราะว่าจำแล้วก็ไม่รู้ว่าที่จำแล้วคืออะไร แต่สิ่งที่เราเข้าใจเราสามารถที่จะรู้ได้ว่ามีเท่าไหร่ นี่ก็คงจะเป็นการสะสมของแต่ละคน ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะปรุงแต่งให้เกิดความคิดอย่างนั้น
ที่มา ...