ปรมัตถธรรมนอกจากเจตสิก ๖ ดวง เป็น นเหตุ ทั้งหมด
คุณอุไรวรรณ ปรมัตถธรรม ๔ จำแนกเป็นเหตุเจตสิกเพียง ๖ ดวงเท่านั้นที่เป็นเหตุ นอกจากนั้นเป็น นเหตุ ทั้งหมด เพราะฉะนั้น นเหตุ ก็จะมีเจตสิก ๔๖ จิตทั้งหมด รูปทั้งหมด และนิพพานด้วย ทั้งหมดเป็นนเหตุ ส่วน เหตุ คือเจตสิก ๖ ดวง จำแนกเป็น ๒ ประเภทคือ อเหตุกะ และ สเหตุกะ
ท่านอาจารย์ ขอถามว่า คุณวิชัยเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่เป็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่เจตสิก ๖ ต้องเจตสิก ๖ เท่านั้นที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นอะไรทั้งหมดที่ไม่ใช่เจตสิก ๖ เป็น น+เห+ตุ ภาษาไทยเราก็กล่าวสั้นๆ ว่า “นเหตุ” เจตสิกเป็นเหตุ หรือไม่ ต้องบอกว่า เจตสิก ๖ ดวง เป็นเหตุ เจตสิกอื่นไม่ใช่เหตุ จิตเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ รูปเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ นิพพานไม่ใช่เหตุ นิพพานเป็นนเหตุ เมื่อความเข้าใจ ๒ ประการนี้ คือ เรื่อง “เหตุ” และ“นเหตุ” มั่นคงแล้ว จึงศึกษาต่อถึงอเหตุกะ และ สเหตุกะได้
"อเหตุกะ" เป็นภาษาบาลี หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยแม้แต่เหตุเดียว ถ้ามีเหตุเพียงหนึ่งเกิดร่วมด้วยจะเรียกว่าอเหตุกะไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีเหตุหนึ่งเกิดร่วมด้วย จึงต้องไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เกิดไม่ได้กับอเหตุกจิต หรือ อเหตุกเจตสิก แต่สภาพธรรมใดที่มีเหตุ ๑ เหตุ หรืออาจจะเป็น ๒ เหตุ หรืออาจจะเป็น ๓ เหตุก็ได้ เกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นก็เป็นสเหตุกะ แล้วแต่ว่าจะกล่าวถึงจิตก็เป็น “สเหตุกจิต” ถ้ากล่าวถึงเจตสิกก็เป็น “สเหตุกเจตสิก”
เจตสิกเกิดร่วมด้วยกับเหตุได้ หรือไม่ เกิดได้ เจตสิกใดที่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ จิตนั้นจะไม่เกิดร่วมกับเหตุได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะว่าจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจิตนั้นมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็หมายความว่าเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตนั้นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น
นี่คือคร่าวๆ ต่อไปก็จะแบ่งละเอียดอีก แต่ให้ทราบความหมายของอเหตุกจิต หรืออเหตุกเจตสิก
ที่มา ...