ผลของกรรม - อเหตุกจิต - วิถีจิต - สเหตุกจิต


    ขณะนี้เรากำลังจะกล่าวเรื่องผลของกรรม เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติเป็นภวังค์ก็เป็นชาติวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม นี้ก็แสดงว่าเรารู้จักวิบากจิตบางอย่างแล้ว แต่ว่าไม่หมด เช่น ขณะ ปฏิสนธิจิตรู้ว่าเป็นวิบาก ตอนที่เป็นภวังค์ก็เป็นวิบาก แต่ก็ไม่ใครที่จะเป็นภวังค์อยู่ได้ตลอดกาลใช่ไหม ผลของกรรมคือให้ปฏิสนธิแล้วก็ดับไปภวังคจิตเกิดสืบต่อ ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ผลของกรรมจะอยู่ตรงไหน ไม่ว่ากรรมดีกรรมชั่วทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจในเรื่องของจิตที่เป็นเหตุที่เป็นกุศล และอกุศล ซึ่งจะทำให้จิตที่เป็นวิบากเป็นผลเกิดขึ้น และผลไม่ต้องขอ อย่างไรก็ต้องมี ได้ทุกอย่างตามที่อยากจะได้ จะมาก หรือน้อยตามควรแก่เหตุ ไม่ใช่ว่าเมื่ออยากได้อะไรก็ได้ตามที่อยาก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่อนัตตา แต่ถ้าเป็นอนัตตาก็ต้องเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้นจนตลอดซึ่งไม่มีอัตตาที่จะเข้ามาแทรกได้ เพราะฉะนั้นกรรมก็ให้ผลทันทีที่ไม่ใช่ภวังคจิต นี้กล่าวโดยคร่าวๆ เพราะว่าจากการที่ฟังมาแล้ว เราก็ทราบว่าวิถีจิตแรกยังไม่ใช่วิบากแต่เป็นกิริยาจิต เป็นจิตที่สามารถที่จะรู้ว่ามีอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกต่อจากภวังคจิตซึ่งเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ ขณะนั้นจะมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ขณะนั้นจะมีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นอารมณ์นั้น เพียงแต่จากภวังค์ จากการที่ไม่มีอารมณ์ใดปรากฏทั้งสิ้นมาสู่การที่เริ่มรู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร จิตนี้ก็จะรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ทาง ขณะนั้นจะมีเหตุเจตสิกคือโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตอะไรถ้าจำแนกโดยเหตุ ต้องเป็น "อเหตุกจิต"

    การที่เราจะเข้าใจไม่ใช่เข้าใจเพียงชื่อว่าอเหตุกะ มีจำนวนเท่าไร แบ่งเป็นอะไร แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ต้องมีเหตุผลด้วย เช่น ขณะแรกที่เป็นวิถีจิตแรก ต้องเป็นอเหตุกจิต และเมื่อเป็นทางใจ ไม่มีอารมณ์กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จะมีการเริ่มนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ที่เป็นอารมณ์ทางใจ ทุกคนคิดใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าก่อนนั้นเป็นภวังค์ที่ยังไม่ได้คิด และตอนที่ก่อนจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะต้องมีจิตที่รู้อารมณ์ทางใจที่กระทบ และทำให้มโนทวาราวัชชนจิตที่เป็นวิถีจิตแรกที่มีขณะนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแต่ว่าขณะไหนก็ได้ เช่น ขณะนี้มีการคิดนึก หรือไม่ แต่ว่าจะคิดนึกด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิตถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นถ้ามโนทวาราวัชชนจิตคิดเรื่องอะไร คำอะไรก็แล้วแต่ที่ทุกคนกำลังคิดอยู่ เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิตเพราะเหตุว่ายังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้วทางใจ กุศลจิต หรืออกุศลจิตก็มีอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะเห็นได้ว่าเราคิดมากใช่ไหม บางขณะคิดดีเป็นกุศล คิดจะให้คนนั้น สงเคราะห์คนนี้ ช่วยเหลือคนอื่น บางขณะก็คิดขุ่นเคืองใจไม่ชอบบุคคลนั้นบุคคลนี้ ขณะนั้นเป็นธรรมทั้งหมด และก็ทรงแสดงไว้ด้วยว่าถ้าเป็นการคิดนึก วิถีจิตแรกคือมโนทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกจิต ต่อจากนั้นไม่ใช่ เป็นกุศลมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม โดยนัยของเหตุชื่ออะไร จิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย "สเหตุกจิต" จะเห็นได้เลยว่าธรรมดาแล้วจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นจะปราศจากเจตสิกที่เป็นอกุศลได้ หรือไม่?ไม่ได้ ถ้าปราศจากเจตสิกซึ่งเป็นอกุศล จิตนั้นไม่เป็นอกุศล ที่จะเป็นอกุศลได้ก็ต้องมีโมหเจตสิก ๑ ที่เป็นเหตุ ถ้ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว จิตนั้นเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ สเหตุกะ ถึงแม้เหตุเดียวก็ต้องเป็นสเหตุกะ เพราะเหตุว่ามีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และต่อไปเราก็เรียกตามจำนวนได้เป็นเอกเหตุกะ เพราะเหตุว่ามีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว

    เพราะฉะนั้น สำหรับเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ คือ โมหเจตสิก ถ้าจะเกิดเพียงเหตุเดียว ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย จิตขณะนั้นจึงเป็นโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างเดียวจึงเป็นโมหมูลจิต เราก็เรียนมาแล้ว พอที่จะทราบว่าอกุศลจิตมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แต่ถ้าเราเข้าใจโดยนัยของเหตุ เราก็สามารถที่จะรู้ละเอียดขึ้นถึงความวิจิตรของจิตซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลง หรือจะบังคับบัญชาก็ไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด ถ้ากล่าวอย่างนี้เราก็ค่อยๆ ผสมผสานสิ่งที่ได้เข้าใจมาแล้วเพิ่มขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59


    หมายเลข 6681
    9 ก.ย. 2567