วิธีที่จะเข้าใจอยู่ที่ตรึก ไตร่ตรองในเหตุผล ไม่ใช่ท่องจำ


    วิธีที่เราจะเข้าใจ ไม่ใช่ว่าต้องไปท่องจำ ถ้าท่องจะเข้าใจ หรือไม่ ไม่เข้าใจใช่ไหม ถ้าไปจำๆ ๆ เอาไว้ จะเข้าใจไหม ก็ไม่เข้าใจอีก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอยู่ที่การตรึก ไตร่ตรอง ถ้าพูดถึงเรื่องเหตุ และเราฟังมาแล้วว่าภวังคจิตไม่รู้อะไรทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นเรายังไม่กล่าวถึงประเภทว่าภวังคจิตนั้นก็จะมี ๒ ประเภทคือ สเหตุกะ หรือ อเหตุกะ ซึ่งเรายังไม่กล่าวถึง เราจะกล่าวถึงเมื่อไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็ขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้างในชีวิตประจำวัน เราก็สามารถที่จะระลึกได้ว่าก่อนเห็น ก่อนได้ยินพวกนี้ต้องมีวิถีจิตแรก อย่างลืมว่าปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึกทั้งสิ้น เป็นขณะที่ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลยในโลกนี้ในขณะที่หลับสนิท แต่เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิต ซึ่งจะต้องคิดถึงว่าเมื่อเป็นวิถีจิต แล้ววิถีจิตแรกเป็นอะไร วิถีจิตคือจิตที่เกิดดับสืบต่อหลายขณะ ที่รู้อารมณ์เดียวกันวาระหนึ่ง วาระหนึ่ง จะมีวิถีจิตหลายขณะซึ่งจะต้องมีวิถีจิตแรก

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ไตร่ตรองอย่างนี้ เราจะลืมปัญจทวาราวัชชนจิต กับ มโนทวาราวัชชนจิตไหม ในเมื่อเราทราบว่า ๒ จิตนี้เป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าเมื่อทวารมี ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกเกิดขึ้น และโดยนัยของชาติ ก็รู้ว่าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และก็ไม่ใช่วิบากด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นกิริยาจิต เพราะว่าวิบากต้องเป็นหนึ่งคือกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรือเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อจิตนี้สามารถจะรู้ได้ทั้งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ จึงไม่ใช่กุศลวิบาก ไม่ใช่อกุศลวิบาก ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นก็เป็นกิริยาจิต ในเมื่อไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็เป็นกิริยาจิตโดยชาติ

    ต่อไปเป็นการทบทวน เรื่องจิตโดยภูมิ จิตทุกจิตต้องมีระดับขั้นว่าจิตนั้นเป็นขั้นไหน ขั้นต้นก็คือกามาวจรจิต เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชีวิตประจำวันจริงๆ มีทั้งอกุศล และกุศล สำหรับกามาวจรจิต แต่ถ้าเป็นจิตฝ่ายกุศลที่ประณีตขึ้น จะเป็นอีกภูมิหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง คือถึงความสงบระดับขั้นของฌาณจิต จิตนั้นไม่ใช่กามาวจรจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เป็นความสงบของจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเป็นรูปาวจรจิต เป็นอีกระดับหนึ่งก็เป็นรูปาวจรภูมิ ถ้าเป็นภูมิที่จิตประณีตขึ้นอีก เป็นความสงบระดับของอัปปนาสมาธิขั้นปัญจมฌาณ เห็นโทษของรูป เพราะฉะนั้นก็มีอรูปเป็นอารมณ์ได้ ขณะนั้นก็เป็นความสงบที่พ้นจากมีรูปเป็นอารมณ์ระดับของปัญจมฌาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ ระดับนั้นจิตไม่ใช่กามาวจรจิต ไม่ใช่รูปาวจรจิต แต่เป็นอรูปาวจรจิต นี่เป็นภูมิของจิต และภูมิสุดท้ายซึ่งสูงสุดก็คือโลกุตตรภูมิ พ้นจากโลก มีอารมณ์ที่เป็นนิพพานเป็นอารมณ์ และก็ดับกิเลสด้วย เพราะฉะนั้นภูมิของจิตมี ๔ ภูมิ

    เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นภูมิใดใน ๔ ภูมิ กามาวจรภูมิ คือเราเข้าใจได้เวลาพูดถึงภูมิ และก็ไม่ลืมว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร เป็นภูมิอะไร ก็จะต่อไปว่าประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นเหตุ หรือว่าไม่ใช่เหตุ ไม่ยากใช่ไหม ถ้าคิดว่าจะลืมนี่ไม่ลืมเลย ตั้งต้นที่ภวังค์ไม่มีอารมณ์ใดปรากฏ และก็เริ่มที่จะรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดซึ่งต้องมีวิถีจิตแรก พอพูดถึงวิถีจิตแรกก็นึกถึง ๕ ทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็อีกหนึ่งทวารทางใจ เพราะฉะนั้นก็รู้ว่าวิถีจิตแรกต้องเป็นจิตที่รำพึงถึง หรือเริ่มที่จะรู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวารใด ซึ่งก็ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตทาง๕ ทวาร และมโนทวาราวัชชนจิตทางใจ ก็เริ่มมาเรื่อยๆ อย่างนี้ก็จะสามารถรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59


    หมายเลข 6686
    19 ม.ค. 2567