วิถีจิต - จิตที่ไม่ใช่วิถี


    ผลทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุ เมื่อปฏิสนธิมาแล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็ยังจะต้องรอกรรมที่จะให้ผล เพราะว่าไม่มีใครเลยที่ปฏิสนธิแล้วเป็นภวังค์แล้วก็ตายขณะที่เป็นภวังค์ จึงต้องมีวิถีจิตซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต และไม่ใช่ปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าการที่จะใช้คำว่า "วิถีจิต" กับ "จิตที่ไม่ใช่วิถี" จิตที่ไม่ใช่วิถี สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่จิตรู้คืออารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดเมื่อใด ที่ไหน อย่างไรก็ตาม จิตต้องเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่เป็นปัญญาแต่สามารถรู้ชัดในอารมณ์ของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้นสำหรับจิตที่ไม่ใช่วิถีสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้โดยไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยหู ไม่ต้องอาศัยจมูก ไม่ต้องอาศัยลิ้น ไม่ต้องอาศัยกาย ไม่ต้องอาศัยใจ ซึ่งในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่นั้นจะเกิดขึ้นได้ในขณะที่กำลังหลับสนิท เพราะว่ากำลังหลับสนิท อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แม้ตัวเราขณะนั้นก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีฝัน ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ใดๆ เลยที่จะปรากฏ แต่จิตซึ่งเป็นผลของกรรมก็เกิด แล้วก็ทำกิจภวังค์ดำรงค์ภพชาติจนกว่าจะถึงกาละซึ่งกรรมอื่นก็จะให้ผล เช่น หลังจากหลับสนิทแล้วก็ตื่น เป็นกาละที่วิถีจิตจะเกิดโดยอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง คือ อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจก็ได้

    ตื่นขึ้นมาลืมตาแล้วเห็น ก็อาศัยทางตา "จักขุปสาท" เป็นทางที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หากตื่นได้ยินเสียงแล้วตื่น ขณะนั้นก็อาศัยทางหู "โสตปสาท" หรืออาจรู้จะกลิ่น เช่น บางคนที่สลบ หรือเป็นลม เมื่อเขารู้สึกตัวครั้งแรกเขาจะรู้ได้เลยว่าขณะนั้นจิตกำลังรู้อะไรจะอาจเป็นกลิ่นก็ได้ แต่ตอนนั้นคงไม่มีใครที่จะรู้รสใช่ไหม หรืออาจจะรู้ทางกายที่กระทบสิ่งที่ปรากฏ คือ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว หรือมิฉะนั้นก็คิดนึก

    ถึงแม้จะใช้คำว่าหลับ แต่ก็ยังมีการฝัน ขณะนั้นเป็นวิถีจิต หรือเป็นจิตที่พ้นวิถี "เป็นวิถีจิต" แต่ไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้เห็นเลย ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่คิดนึก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าขณะที่ไม่ใช่วิถีจิตไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แต่ส่วนจิตที่เป็นวีถีต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเกิดขึ้นรู้ทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่ใช่วิถีจิต ก็ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจซึ่งยังไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวถึงสิ่งที่เราได้เรียน ได้เข้าใจในเรื่องของเหตุในวันหนึ่งๆ เช่น วันนี้ เป็นต้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 61


    หมายเลข 6728
    17 ก.ย. 2567