ขณะนี้กำลังเป็นวิบากหรือไม่ วันไหนไม่มีวิบากบ้าง
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเป็นวิบาก หรือไม่ "เป็น" วันไหนไม่มีวิบากบ้าง "ไม่มีเลย" แล้วแต่ว่าจะเป็นวิบากทางตาคือกำลังเห็นสิ่งที่ดี ที่น่าพอใจ หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นั่นก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เลือกได้ไหม "เลือกไม่ได้เลย" เพราะฉะนั้นเวลาได้รับผลที่ดี เห็นสิ่งที่ดี ใครทำ กรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นกุศลวิบากนั่นเอง แก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม "ไม่ได้" เพราะว่ามีปัจจัยเกิดแล้วดับ ไม่นานเลย เพียงแค่เกิดขึ้นทำกิจเห็นแล้วดับ นี่ก็เป็นผลของกรรมทางตา ถ้าได้ยินเสียง ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตที่ได้ยินเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม เลือกไม่ได้อีกว่าจะได้ยินเสียงที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ
เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะหยั่งรู้ไปถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะเดือดร้อนไหม ทำแล้วก็ให้ผล ใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีความเข้าใจถูกต้องว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน ทางจมูกได้กลิ่นที่ไม่ดีก็เป็นผลของอกุศลกรรม สำหรับจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมทางจมูกก็คือฆานวิญญาณ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ฆานวิญญาณ” คือจิตที่ได้กลิ่น ถ้าเป็นทางกายขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่รู้สึกไม่สบาย ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วก็เป็นกายวิญญาณ ก็เติมคำว่าอกุศลวิบากต่อท้าย เติมเองได้ไหมต่อไปนี้ รู้สึกแข็งตรงไหนที่ไม่สบายบ้างไหม ปวดตรงไหนที่ไม่สบาย ขณะนั้นเป็นเรา หรือไม่ หรือว่าเป็นจิต เจตสิกที่เกิด แล้วก็กำลังรู้สิ่งที่กำลังกระทบทางกาย ถ้าไม่สบายขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม "กายวิญญาณอกุศลวิบาก" ภาษาบาลีก็ใช้คำตรงเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากเป็นผล เพราะฉะนั้นผลของอกุศลกรรมก็คือ อกุศลวิบาก และถ้าเป็นทางกายก็เป็น “กายวิญญาณอกุศลวิบาก”
จิต ๕ ประเภทที่เป็นผลของอกุศลกรรม เริ่มตั้งแต่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และกรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ฉะนั้นวิบากก็ต้องมีทั้งที่เป็น กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก จึงมี จิตเห็น จักขุวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตได้ยิน โสตวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตได้กลิ่น ฆานวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตลิ้มรส ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก และ ทางกายจิตรู้กระทบสัมผัส กายวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก รวมเป็นอกุศลวิบาก ๕ และ กุศลวิบาก ๕ รวมเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเท่าไหร่ที่ได้กล่าวถึงแล้ว
จากที่ได้กล่าวถึงวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม จะเห็นได้ว่ามีจิต ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ประเภท หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตดับไปแล้ว วิบาก ๑๐ ดวง หนึ่งใน ๑๐ ดวง นี้จะเกิดต่อ วิบากเพียงแค่เห็น แค่เห็นเพียงชั่วขณะเดียวที่เกิดมาสั้นนิดเดียว เพียงเกิดขึ้นแล้วเห็น จะมีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และจะมีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จิต ๑๐ ดวงซึ่งเป็นผลนี้จึงเป็นอเหตุกจิต คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ นั่นเอง รวมเป็นอเหตุกที่กล่าวถึงวิบากเท่าไหร่ ๑๐ ดวง ซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ๕ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๕ ดวง และที่เป็นกิริยา ไม่ใช่เป็นผลของกรรม และเป็นอเหตุกอีก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๑ ดวง ทั้งหมดจะมี ๑๘ ดวง แต่ยังไม่ต้องไปคิดให้รู้สึกยากที่จะจำ เพราะเมื่อเราเข้าใจ เราจะได้เข้าใจจริงๆ เช่น จิตเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม และถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นผลของกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก
ที่มา ...