กลุ้มใจเป็นวิบากหรือไม่
ผู้ฟัง คำว่า “วิบาก” หมายรวมไปถึงมโนวิญญาณด้วยหรือไม่ กลุ้มใจเป็นวิบากหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้ากล่าวถึงเหตุจะต้องแยกให้ชัดเจน เมื่อกล่าวถึงทางใจ การรู้อารมณ์ทางใจ เช่นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น และไม่คิดนึกคือไม่ฝันด้วยนั่นคือภวังค์ตลอด แต่เวลาที่ฝันคือมโนทวารวิถีจิต เพราะว่าขณะนั้นจิตคิดนึกโดยที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่มีเรื่องที่คิด เห็นคนเดินทางไปที่ไหน พูดกับใคร เป็นเรื่องคิดนึกทั้งหมด
เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงทางมโนทวารวิถีหมายความว่าเมื่อภวังคจิตดับแล้วก็ไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป เมื่อกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายคือ"ภวังคุปัจเฉทะ" เป็นชื่อภาษาบาลีที่มีความหมายในภาษาไทยว่ากระแสภวังค์ขณะสุดท้าย เพราะว่าภวังคจิตจะไม่เกิดขณะเดียวจะเกิดดับสืบต่อเป็นระยะที่ยาวนานที่ปรากฏในขณะที่กำลังหลับสนิท แต่เวลาอื่นก็มีภวังคจิตแต่ไม่ปรากฏเพราะเป็นระยะที่สั้น ถ้ายาวมากก็เป็นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้ฝันเลยขณะนั้นเป็นภวังค์ กระแสภวังค์จะเกิดดับสืบต่อจนกว่าวิถีจิตจะเกิด ไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป
ภวังคจิตก็รู้อารมณ์ จิตต้องรู้อารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย กระแสภวังค์สุดท้ายซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า "ภวังคุปัจเฉทะ" แล้ววิถีแรกเกิดทางใจ ขณะนี้ไม่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว แต่จะเกี่ยวกับทางใจซึ่งจะเห็นได้ตอนที่ฝัน เห็นชัดๆ เลยว่าขณะนั้นมีการคิดนึกเรื่องต่างๆ โดยอาศัยทวารใด ต้องมีทวาร เพราะว่าเฉพาะภวังคจิต ปฏิสนธิจิต จุติจิต ๓ ขณะเท่านั้นที่รู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยเพราะโลกไม่ได้ปรากฏ ขณะแรกที่เกิด และแม้ขณะสุดท้ายที่จะจากโลกนี้ไป หรือขณะที่กำลังเป็นภวังค์ ไม่มีอะไรปรากฏเลย จะไม่มีชื่อเสียง ไม่มีตัวตน ไม่มีความคิดใดๆ ทั้งหมดนั่นคือภวังค์ ดังนั้นเมื่อเกิดการคิดขึ้นมาจึงไม่ใช่ภวังค์แล้ว ภวังคจิตคิดไม่ได้ เป็นจิตคนละประเภท คนละขณะ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเกิดฝัน คือ "คิด" ต้องไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นภวังคจิตขณะสุดท้ายนั่นเองเป็นมโนทวาร เพราะว่าทวารมี ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวาร ถ้าไม่มีทวารคือไม่มีภวังคุปัจเฉทะ จิตอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์หรือจะคิดนึกไม่ได้เลย ต้องเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ตามปัจจัยคือสภาพของจิตนั่นเองเมื่อเกิดแล้วดับ การดับไปของขณะจิตก่อนก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ที่เราได้ยินในงานสวด วิคตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการที่ต้องปราศไปก่อน หมดไปก่อน จิตขณะก่อนต้องหมด จิตขณะต่อไปจึงเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ วิถีจิตจะเกิดไม่ได้เลย ต่อเมื่อภวังค์ขณะสุดท้ายดับ วิถีจิตจึงจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นภวังคุปัจเฉทะนั่นเองคือ มโนทวาร และจิตที่เกิดสืบต่อเป็นมโนทวารวิถีจิต ซึ่งไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้กระทบสัมผัสกาย ด้วยเหตุนี้เมื่อที่พูดถึงอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุก็จะกล่าวถึงจิต ๑๘ ประเภทที่ไม่ประกอบด้วยเหตุว่ามีอะไรบ้าง ก็เริ่มตั้งแต่ทางปัญจทวาร ส่วนทางมโนทวารนั้นเริ่มด้วยมโนทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ต่อจากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศลเลย โดยที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน
ที่มา ...