จิตทุกประเภทต้องรู้อารมณ์ และ ต้องกระทำกิจ
ท่านอาจารย์ นามธาตุไม่ใช่เกิดมาเฉยๆ แต่เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เพราะฉะนั้นจิตไม่ว่าจะเกิดเมื่อใด ขณะใด ภูมิใด ทำกิจการงานอะไรก็ตาม ให้ทราบว่าจิตทุกประเภทต้องรู้อารมณ์ นี่ประการแรกที่สุด ซึ่งการรู้อารมณ์ของจิตต่างกัน ๒ อย่าง คือรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย กับรู้อารมณ์โดยต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด จิตเกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์
จิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลยมีอยู่ ๓ ขณะ คือ "ปฏิสนธิจิต" เรียกตามกิจที่เกิดขึ้นครั้งแรกสืบต่อจากภพก่อน "ภวังคกิจ" หรือเรียกภวังคจิตก็ได้ คือเรียกชื่อตามกิจของจิต ซึ่งภวังคกิจจะเริ่มเกิดหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย เมื่อจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจเกิดขึ้นสืบต่อจากชาติก่อนดับไปแล้วโดยกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย กรรมนั้นก็ทำให้จิตเกิดขึ้นสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจ
อีกข้อหนึ่งที่ต้องจำก็คือ จิตทุกประเภทต้องทำกิจ กล่าวคือ ๑ จิตทุกประเภทต้องรู้อารมณ์ และ ๒ จิตทุกประเภทต้องทำกิจ จะมีจิตเกิดโดยไม่ทำกิจใดๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงปฏิสนธิจิต ก็หมายถึงถึงจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เมื่อกล่าวถึงภวังคจิต ก็หมายถึงจิตที่ทำภวังคกิจ เป็นจิตที่ไม่ต้องอาศัยทวารเลย แต่ต้องรู้อารมณ์เพราะเป็นจิตแล้วต้องรู้อารมณ์
จิตที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวารเลยคือ ปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ จุติจิต ๑ จิตทั้ง ๓ นี้ในชาติหนึ่งๆ ต้องเป็นจิตประเภทเดียวกันเปลี่ยนไม่ได้เลย จะเปลี่ยนจากคนนี้ไปเป็นคนอื่นโดยที่ยังไม่ตายไปนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้อกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจเป็นแมวดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้ภวังคจิตของแมว เราเรียกว่า แมว แต่ความจริงก็คือภวังคจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากอกุศลวิบากซึ่งทำปฏิสนธิกิจนั่นเอง เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็ต้องเป็นอกุศลวิบากประเภทเดียวกันเลยทั้งปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ซึ่งจุติจิตเป็นจิตขณะสุดท้ายที่ทำให้เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ถ้าจิตนี้เกิดแล้วจะเกิดกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ต้องพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จิต ๓ ขณะนี้ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย จึงชื่อว่า "ทวารวิมุตตจิต"
วิถีมุตตจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิตเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องอาศัยทวาร เมื่อไม่ใช่วิถีจิตจะอาศัยทวารอะไร เพราะคำว่า “วิถี” หมายถึงอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเพื่อเปลี่ยนสภาพจากภวังค์ โดยจิตจะเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดสืบต่อกัน ถ้าเป็นรูปก็จนกว่ารูปนั้นจะดับ เป็นวิถีจิตทั้งหมด จึงมีจิต ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิต ที่เป็นวิถีจิตเพราะอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเมื่อไม่ใช่ภวังคจิตจึงเป็นวิถีจิต โลภมูลจิตก็ไม่ใช่ภวังคจิตก็เป็นวิถีจิต
ที่มา ...